ไอแบงก์ ร่วมต้อนรับคณะทูตกลุ่มประเทศมุสลิมในกิจกรรมเสริมสร้างความเข้าใจและสานสัมพันธ์คณะทูตกลุ่มประเทศมุสลิม (OIC) ประจำปี 2567 ในพื้นที่จังหวัดยะลา
ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย หรือไอแบงก์ โดย ดร.ทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการและผู้จัดการ เข้าร่วมกิจกรรมและต้อนรับผู้นำคณะทูตกลุ่มประเทศมุสลิมและผู้บริหารระดับสูง ในวันที่ 2 ของกิจกรรมเสริมสร้างความเข้าใจและสานสัมพันธ์คณะทูตกลุ่มประเทศมุสลิม ประจำปี 2567ซึ่งจัดขึ้นโดยกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) โดยมีคณะทูตกลุ่มประเทศมุสลิม (The Organization of Islamic Cooperation) 12 ประเทศ เข้าร่วมกิจกรรม ที่ TK Park ยะลา (อุทยานการเรียนรู้ยะลา) จังหวัดยะลา เมื่อช่วงเช้าวันที่ 12 มิถุนายน 2567
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและโฆษกกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วยคณะเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยที่เกี่ยวข้อง อาทิ ดร.ณหทัย ทิวไผ่งาม ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พลโท ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 และผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 พันตำรวจโท วรรณพงษ์ คชรักษ์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการปกครอง นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นางพาตีเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี นายอำพล พงศ์สุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ว่าที่ร้อยตรี ตระกูล โทธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส นายศักระ กปิลกาญจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล นายสมนึก พรหมเขียว ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา และนายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา นายกเทศมนตรีนครยะลา ให้การต้อนรับคณะทูตกลุ่มประเทศมุสลิม (The Organization of Islamic Cooperation) 12 ประเทศ ประกอบด้วย H.E. Mr. Pengiran Haji Sahari Pengiran Haji Salleh เอกอัครราชทูตบรูไน H.E. Mrs. Hala Youssef Ahmed Ragab เอกอัครราชทูตอียิปต์ H.E. Mr. Nassereddin Heidari เอกอัครราชทูตอิหร่าน Mr. Bong Yik Jui อุปทูต สถานเอกอัครราชทูตมาเลเซีย Ms. Aishath Shiruma Ahmed อุปทูต สถานเอกอัครทูตมัลดีฟส์ Dr. Mohammed Idris Haidara อุปทูต สถานเอกอัครราชทูตไนจีเรีย Mr. Fuad Adriansyah รองหัวหน้าสำนักงานเอกอัครราชทูตอินโดนีเชีย Mr. Nuriddin Mamatkulov รองหัวหน้าสำนักงานสถานกงสุลใหญ่อุซเบกิสถาน ในวันที่ 2 ของกิจกรรมเสริมสร้างความเข้าใจและสานสัมพันธ์คณะทูตกลุ่มประเทศมุสลิม (OIC) ประจำปี 2567
โดยวันนี้ คณะทูตได้ร่วมรับฟังการนำเสนอการขับเคลื่อนงานเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตพี่น้องประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย โดยพันตำรวจโท วรรณพงษ์ คชรักษ์ เลขาธิการ ศอ.บต. พลโท ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 และผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จากนั้น ร่วมรับฟังการเสวนาของคณะทูตผู้เข้าร่วมกิจกรรม และนายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา รวมทั้งนำคณะทูต เยี่ยมชมผลิตภัณฑ์ OTOP ของพี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ อาทิ ผ้าบาติก ที่ได้รับการพัฒนาตามพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” และ “Sustainable Fashion” ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา
จากนั้น ดร.ทวีลาภ ได้มีโอกาสแนะนำธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยแก่คณะทูตผ่านนิทรรศการที่แสดงให้เห็นถึงบทบาทของธนาคารในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนใต้ ในบริบทต่าง ๆ อาทิเช่น การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในระดับฐานรากที่ไม่สามารถเข้าถึงสถาบันการเงินได้ ธนาคารได้ดำเนินการผ่านโครงการชุมชนซื่อสัตย์ ซึ่งขับเคลื่อนด้วยผู้นำมัสยิดในการเข้าถึงชุมชน โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา ธนาคารได้สนับสนุนวงเงินโครงการชุมชนซื่อสัตย์ให้แก่มัสยิดในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวม 343 มัสยิด เป็นวงเงินจำนวน 155 ล้านบาท เพื่อวัตถุประสงค์ในการต่อยอดอาชีพให้กับสัปปุรุษในชุมชนและลดการพึ่งพาเงินกู้นอกระบบที่จะก่อให้เกิดปัญหาสังคมตามมา นอกจากนี้ธนาคารยังได้ทำหน้าที่บริหารจัดการซะกาต ตามมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย พ.ศ.2545 ที่กำหนดให้ธนาคาร "จัดการบัญชีซะกาต” ซึ่งในปีที่ผ่านมา คณะอนุกรรมการซะกาตของธนาคาร ได้จัดสรรเงินซะกาตจากผู้มีหน้าที่ชำระซะกาต ไปยังผู้มีสิทธิได้รับซะกาตตามศาสนบัญญัติ ไม่ว่าจะเป็นบุคคลที่ขัดสนหรือยากจน ด้วยทุน 4 ประเภท ได้แก่ ทุนประกอบอาชีพ ทุนการศึกษา ทุนดำรงชีพ และทุนประเดิมกองทุนซะกาต ให้แก่พี่น้องมุสลิมภายในประเทศ รวม 209 ทุน เป็นเงิน1,687,000 บาท สำหรับการยกระดับคุณภาพชีวิตด้านสาธารณสุข ธนาคารได้ให้การสนับสนุนสินเชื่อแก่โรงพยาบาลเอกชนเพื่อให้คนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ได้มีทางเลือกในเข้าถึงสาธารณสุขที่มีเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย ตลอดจนสนับสนุนสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการฮาลาลและส่งเสริมศักยภาพสู่การส่งออกไปยังประเทศกลุ่ม OIC และอื่นๆ ส่งผลให้เกิดการจ้างงานซึ่งจะช่วยลดโอกาสเกิดสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ลงด้วย
“ในวันนี้ (12 มิถุนายน 2567) ถือเป็นวันครบรอบปีที่ 21 ของการดำเนินกิจการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ธนาคารมีความมุ่งมั่นที่จะเป็นสถาบันการเงินที่ให้บริการตามหลักชะรีอะฮ์ เพื่อความยั่งยืนและมีส่วนสำคัญในการเสริมสร้างความมั่นคง พัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และมีเป้าหมายในการเสริมสร้างพันธมิตรทางธุรกิจที่มีความแข็งแรงและเชี่ยวชาญด้านการเงินชะรีอะฮ์เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยต่อไป” ดร.ทวีลาภ กล่าวทิ้งท้าย