เอปสันจับมือ WWF ขยายผลการฟื้นฟูทะเล พร้อมสร้างสังคมคาร์บอนต่ำเพื่ออนาคต

เอปสันจับมือ WWF ขยายผลการฟื้นฟูทะเล พร้อมสร้างสังคมคาร์บอนต่ำเพื่ออนาคต

เอปสัน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประกาศความร่วมมือกับ “องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล” หรือ WWF เพื่อขับเคลื่อนปณิธานในการร่วมสร้างสรรค์วิธีแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนพร้อมเสริมความแข็งแรงให้แก่ชุมชนโดยการจับมือเป็นพันธมิตรในครั้งนี้จะช่วยขยายผลการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล ตลอดจนช่วยแก้ปัญหาด้านสภาพภูมิอากาศทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผ่านการทำงานร่วมกับเยาวชน นักวิทยาศาสตร์ในแต่ละพื้นที่ รวมถึงการสร้างความร่วมมือกับภาคธุรกิจและชุมชนท้องถิ่น

นายซิ่ว จิน เกียด กรรมการผู้จัดการประจำภูมิภาค เอปสัน สิงคโปร์ กล่าวว่า “เอปสันให้ความสำคัญกับความยั่งยืนอย่างยิ่งยวดมาโดยตลอด ภายใต้วิสัยทัศน์ Epson 25 Corporate Vision และจะยังคงยึดมั่นแนวทางนี้ต่อไปในอนาคต ผ่านการส่งมอบเทคโนโลยีและโซลูชั่นเพื่อความยั่งยืนให้แก่ลูกค้ารวมถึงพันธมิตรทางธุรกิจของเราอย่างต่อเนื่อง เราภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้ขยายผลการดำเนินงานเพื่อความยั่งยืนผ่านนวัตกรรมและการสร้างสรรค์โซลูชั่นเพื่อสิ่งแวดล้อม โดยการร่วมมือกับ WWF และชุมชนท้องถิ่นเพื่อบันดาลให้เกิดอนาคตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น”

ขยายผลการฟื้นฟูทะลบริเวณ “สามเหลี่ยมปะการัง” และพื้นที่โดยรอบ

“สามเหลี่ยมปะการัง” เป็นที่อยู่อาศัยของปลากว่า 6,000 ชนิด รวมถึงร้อยละ 76 ของชนิดปะการังบนโลกที่สำคัญยังถือเป็นพื้นที่ป่าโกงกางที่อุดมสมบูรณ์มากที่สุดของโลกด้วย เรียกได้ว่า “สามเหลี่ยมปะการัง” คือศูนย์กลางความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลอย่างแท้จริง ทั้งนี้ “สามเหลี่ยมปะการัง” ถือเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตลอดจนยังมีพื้นที่ยื่นครอบคลุมไปทางทิศใต้เข้าสู่มหาสมุทรแปซิฟิคบางส่วนด้วย โดยพื้นที่บริเวณนี้ช่วยหล่อเลี้ยงชีวิตของผู้คนกว่า 130 ล้านคนโดยตรงในปัจจุบัน เพราะเป็นทั้งแหล่งอาหารและอาชีพสำหรับผู้คนโดยรอบ รวมถึงยังเป็นแหล่งอาหารสำหรับผู้คนอีกหลายพันล้านคนทั่วโลกอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม การประมงที่หนักหน่วงเกินขีดความสามารถของธรรมชาติจะรองรับได้ การท่องเที่ยวและการขยายเมืองที่ละเลยเรื่องความยั่งยืน ตลอดจนวิกฤติสภาพภูมิอากาศกำลังเป็นภัยต่อแหล่งที่อยู่อาศัยหลักของบรรดาสิ่งมีชีวิตตามทะเลและชายฝั่งในบริเวณ “สามเหลี่ยมปะการัง” และพื้นที่โดยรอบ

ด้วยเหตุนี้ เอปสันจึงสนับสนุนให้ WWF ขยายงานฟื้นฟูปะการังในอินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทยและสิงคโปร์รวมถึงปฏิบัติการฟื้นฟูป่าชายเลนในฟิลิปปินส์ด้วย โดนแผนงานฟื้นฟูดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ที่จะเกื้อหนุนและฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเลที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดเพราะทุกคนต้องพึ่งพิงระบบดังกล่าว รูปแบบการดำเนินการเป็นการทำงานร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและองค์กรต่างๆ ในท้องถิ่น โดยเน้นเสริมสร้างขีดความสามารถของชุมชนท้องถิ่นและกำหนดให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักมีบทบาทในการบริหารจัดการตลอดจนบำรุงรักษาทรัพยากรชายฝั่งในระยะยาว

ดึงภาคธุรกิจและผู้บริโภคร่วมสร้าง “สังคมคาร์บอนต่ำ” เพื่ออนาคต

การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศส่งผลร้ายรวมถึงก่อให้เกิดภัยพิบัติบ่อยครั้งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเวียดนามถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความเสี่ยงด้านผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุด เพราะเวียดนามใช้พลังงานจากถ่านหินเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเวียดนามได้เตรียมเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานโดยจะหันไปใช้พลังงานที่ใช้แล้วผลิตทดแทนได้ในอนาคตทางด้านเอปสันเอง มีความตั้งใจที่จะสนับสนุน WWF ในการขับเคลื่อนให้ทั้งภาคธุรกิจและผู้บริโภคของเวียดนามยินดีเปิดรับการเปลี่ยนผ่านนี้เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคเศรษฐกิจเวียดนามให้ลงสู่ระดับต่ำ รูปแบบการของการขับเคลื่อนจะจัดทำขึ้นด้วยการสร้างตัวอย่างธุรกิจที่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสำเร็จ รวมถึงตั้งเป้าจะยุติการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในที่สุดด้วย

นอกจากนี้ พนักงานของเอปสันจะเรียนรู้ว่าชุมชนและธุรกิจท้องถิ่นสามารถร่วมกันปกป้องระบบนิเวศทางทะเลและสิ่งมีชีวิตที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ รวมถึงเกื้อหนุนการประกอบอาชีพที่สำคัญและความมั่นคงทางอาหารของชุมชนย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อดำเนินการดังกล่าวแล้ว WWF จะเดินหน้าทำงานร่วมกับทีมงานของเอปสันทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อเปิดตัวโครงการด้านการให้ความรู้แก่ภาคส่วนต่างๆ ซึ่งครอบคลุมเรื่องการจัดสัมมนาออนไลน์ การจัดทำพิพิธภัณฑ์ออนไลน์ด้านการลดการใช้พลังงานและคาร์บอน รวมถึงการรณรงค์ปกป้องผืนป่าอีกด้วย

“งานอนุรักษ์จะเกิดผลได้อย่างยั่งยืนต่อเมื่อพันธมิตรต่างจริงใจและร่วมมือกันอย่างแท้จริง” นายอาร์ รากูนาธาน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร WWF สิงคโปร์ กล่าว “เราจะเดินหน้าทำงานร่วมกับเอปสันอย่างใกล้ชิดเพราะเอปสันมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจังและเพียรพยายามอย่างมีความหมายที่จะช่วยให้การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของเราสอดคล้องกับการเสริมพลังทางเศรษฐกิจตลอดจนมนุษย์ที่ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับธรรมชาติ”

 

ข่าวเกี่ยวข้อง