เลขาธิการ คปภ. ปิดหลักสูตร วปส. 11 brain storming ผู้บริหารระดับสูงภาครัฐและภาคเอกชนครั้งใหญ่เสนอ 6 โปรเจค เพื่อช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมประกันภัยไทย
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานในพิธีปิดการศึกษาอบรมหลักสูตรวิทยาการประกันภัยระดับสูง (วปส.) รุ่นที่ 11 ประจำปี 2566 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-23 กรกฎาคม 2566 ณ โรงแรม Phuket Marriott Resort & Spa, Merlin Beach จังหวัดภูเก็ต โดยมีผู้เข้าอบรมซึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และธุรกิจประกันภัย จำนวนทั้งสิ้น 90 คน ซึ่งตลอดหลักสูตรมีการอบรม แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในชั้นเรียนและเข้าศึกษาดูงานทั้งในประเทศ รวมทั้งร่วมทำกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคม(Corporate Social Responsibility : CSR) ตลอดจนจัดทำรายงานการศึกษากลุ่ม (Group Project : GP) ในหัวข้อต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อระบบประกันภัยของไทยอีกด้วย
ทั้งนี้ การจัดทำรายงานการศึกษากลุ่ม (Group Project : GP) เป็นกิจกรรมที่หลักสูตรฯ ให้ความสำคัญและกำหนดให้นักศึกษาทุกคนเข้าร่วม เพื่อช่วยกันระดมความคิดและแบ่งปันประสบการณ์ในแง่มุมต่าง ๆมานำเสนอในรูปแบบรายงานวิชาการ โดยในการปิดหลักสูตร วปส. รุ่นที่ 11 ครั้งนี้ ได้กำหนดให้ผู้เข้ารับการอบรมนำเสนอรายงานการศึกษากลุ่ม GP และตอบข้อซักถามแก่คณะอาจารย์ที่ปรึกษา ประกอบด้วยอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ และผู้บริหารระดับสูงของสำนักงาน คปภ.
สำหรับรายงานวิชาการแบ่งเป็น 6 กลุ่ม 6 หัวข้อ ได้แก่ กลุ่มที่ 1 หัวข้อ “แนวทางสำหรับภาครัฐเพื่อนำระบบประกันภัยมาใช้บริหารความเสี่ยงจากการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ Net Zero Emission” ปัจจุบันกลุ่มอุตสาหกรรมหลายประเภทมีกระบวนการผลิตที่ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกก่อให้เกิดและกระทบต่อสภาพภูมิอากาศที่มีการเปลี่ยนแปลงรวมทั้งสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่สร้างความเสียหายต่อชีวิต ทรัพย์สิน การค้าระหว่างประเทศ และเศรษฐกิจอย่างมหาศาล Net Zero Emission เป็นเป้าหมายของประชาคมโลกที่ต้องการให้รัฐบาลทุกประเทศปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี2593 ซึ่งประเทศไทยก็เป็นประเทศหนึ่งที่มีเป้าหมายที่จะลดก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ โดยภาครัฐและภาคธุรกิจจำเป็นต้องร่วมมือกันและปรับตัวในเรื่องดังกล่าว เพื่อลดความเสี่ยงต่อความสามารถในการแข่งขันและการเติบโตเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งการศึกษานี้เสนอแนะให้ภาครัฐส่งเสริมให้มีการนำระบบประกันภัยมาใช้ในการบริหารจัดการความเสี่ยงและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น โดยแนะนำการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยคาร์บอนเครดิตให้เหมาะสมรองรับกับระบบนิเวศของประเทศไทยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปพร้อมกับการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ Net Zero Emission ซึ่งสามารถดำเนินการได้ผ่านมาตรการต่าง ๆ ทั้งระยะต้น ระยะกลาง และระยะยาว
กลุ่มที่ 2 หัวข้อ “ปัจจัยในการนำเทคโนโลยีมาใช้เกี่ยวกับการประกันภัย หรืออินชัวร์เทค (InsurTech) ในการส่งเสริมธุรกิจประกันภัยให้มีประสิทธิภาพ” ภาคธุรกิจประกันภัยเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ก้าวเข้าสู่การนำเทคโนโลยีมาสร้างสิ่งประดิษฐ์ใหม่ (Digital Transformation) โดยนำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนางานด้านประกันภัยในรูปแบบต่าง ๆ หรือที่เรียกว่า อินชัวร์เทค (InsurTech) เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าด้วยการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการด้านการประกันภัยที่ตอบโจทย์ความต้องการและการดำเนินชีวิตของผู้บริโภคในยุคดิจิทัล ทั้งด้านให้คำแนะนำผลิตภัณฑ์ประกันภัย ด้านการให้บริการประกันภัย ด้านพัฒนาระบบด้านความเป็นไปได้ทางเทคโนโลยี ด้านสถานพยาบาล การพัฒนา Chatbot ซึ่งเดิมมีผู้ให้บริการหลาย ๆ ราย และมีการให้บริการอยู่แล้ว แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคจึงได้เสนอให้นำเทคโนโลยี ChatGPT มาใช้ร่วมกับ Chatbot เพื่อให้เกิดประโยชน์ตอบโจทย์ให้กับประชาชนหรือลูกค้าได้ตรงความต้องการ สามารถรองรับการจัดการองค์ความรู้ สามารถถามคำถามและรับคำตอบได้ทันที และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) ที่พัฒนาขึ้นจะสามารถตอบคำถามซับซ้อนและเข้าใจได้ดีขึ้น
กลุ่มที่ 3 หัวข้อ “การใช้ปัญญาประดิษฐ์เพิ่มประสิทธิภาพระบบคุ้มครองสิทธิผู้ทำประกันภัย ด้านการเรียกร้องค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์” จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) อุตสาหกรรมประกันภัยไทยได้พบกับบททดสอบใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิมและเข้าสู่บริบทการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ (New Normal) และยังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสำคัญด้านการพัฒนาของเทคโนโลยีและนวัตกรรมแบบก้าวกระโดด ปัญหาสำคัญอันหนึ่ง คือ ด้านการให้บริการของประกันภัยไทยจากการร้องเรียนของผู้ทำประกันภัยและประชาชนผู้ได้รับความเสียหายด้านค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถที่เป็นคู่กรณีหรือผู้เสียหาย ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อตลาดประกันภัยทั้งในด้านความมั่นคงมาตรฐานที่ชัดเจน กลุ่มนี้จึงเสนอการพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยี “ระบบคุ้มครองสิทธิผู้ทำประกันภัยและประชาชน ด้านการเรียกร้องค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์ ช่วย ชด เชย” เพื่อพิจารณาค่าสินไหมทดแทนค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์ให้มีกระบวนการที่เป็นธรรม และเป็นมาตรฐาน รวมทั้งสร้างการรับรู้และเข้าถึงการเยียวยาด้านค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถอย่างสมเหตุสมผลและเกิดความพึงพอใจจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน
กลุ่มที่ 4 หัวข้อ “ผลิตภัณฑ์ประกันภัยเพื่อยกระดับการเข้าถึงประกันสุขภาพให้กับผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม” ศึกษาแนวทางที่จะเพิ่มสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมให้มีความคุ้มครองที่เพิ่มขึ้นค่าใช้จ่ายที่น้อยลงสำหรับทั้งผู้ประกันตนและนายจ้าง ซึ่งการเลือกสิทธิให้แก่ลูกจ้างและตนเองในมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 ที่ต้องหาซื้อประกันภัยสุขภาพเพิ่มเติมที่จำเป็นต่อการรักษาพยาบาลอย่างเท่าเทียม รวมถึงสิทธิประโยชน์พิเศษที่สามารถเพิ่มได้ง่ายขึ้นหากใช้ระบบประกันภัยสุขภาพเอกชนเข้าไปช่วยระบบประกันสังคมในการบริหารความเสี่ยงด้านสุขภาพ ตลอดจนสร้างความร่วมมือทางด้านการให้บริการสุขภาพของประชากรไทย เพื่อยกระดับบริการด้านสินไหมและอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนที่เข้ารับบริการในโรงพยาบาลทั้งแบบผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในโดยไม่ต้องสำรองจ่ายค่ารักษาพยาบาลเพิ่มเติม เป็นการ ONTOP หรือผูกกับระบบประกันสังคมในระบบประกันสังคมจ่ายเอกชนจ่าย และใช้ศูนย์บริการสินไหมทดแทนเดียวกันและเป็นส่วนเพิ่มจากความคุ้มครองของประกันสังคมที่มีอยู่เดิมแต่ลดค่าใช้จ่ายทดแทนที่จะจ่ายในการประกันกลุ่ม ซึ่งจะทำให้ผู้ประกันตนได้สิทธิค่ารักษาที่เพิ่มขึ้นจากการซื้อประกันภัยเพิ่มเติมโดยที่ลดค่าใช้จ่ายจากการซื้อประกันภัยส่วนบุคคลลง และสามารถเลือกซื้อประกันภัยเพิ่มเพื่อรับความคุ้มครองตามเพดานที่ตนเองต้องการได้ รวมถึงสามารถเลือกโรงพยาบาลที่ตนเองต้องการได้เนื่องจากนำไปผูกกับระบบประกันสังคม
กลุ่มที่ 5 หัวข้อ “การเสริมสร้างและส่งเสริมการขายประกันการเดินทางเพื่อเป็นผู้นำในภูมิภาคเอเชีย” สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 19 ลดลง ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อประกันภัยการเดินทางของนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเที่ยวประเทศไทย รวมถึงความกังวลระหว่างการเดินทางท่องเที่ยวและประสบการณ์การใช้บริการโรงพยาบาลในไทย พบว่านักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มีแผนซื้อประกันภัยการเดินทางหากเกิดอุบัติเหตุหรือต้องเคลื่อนย้ายกลับประเทศแบบผู้ป่วยโดยไม่ต้องสำรองจากจ่ายเงินก่อน การพัฒนาเว็บแอพพลิเคชันให้นักท่องเที่ยวสามารถค้นหาประกันภัยการเดินทางที่ตรงกับต้องการและจุดประสงค์การเดินทางทั้งแบบรายบุคคลและรายกลุ่ม รวมถึงเปรียบเทียบประเภทผลิตภัณฑ์หรือเลือกปรึกษาผู้เชี่ยวชาญได้
กลุ่มที่ 6 หัวข้อ “การพัฒนาเกมกระดาน (Board Game) เพื่อสร้างความตระหนักรู้ด้านการประกันภัยให้แก่นักเรียน นักศึกษา และบุคคลทั่วไป เพื่อเป็นรากฐานในการจัดการความเสี่ยง และต่อยอดไปสู่การเติบโตของธุรกิจในอนาคต” การพัฒนาเกมกระดาน (Board Game) เป็นเครื่องมือที่เหมาะสมในการช่วยส่งเสริมความรู้และสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการประกันภัยให้แก่กลุ่มผู้เล่น โดยที่ยังคงสร้างความสนุกสนานพร้อมทั้งให้เกิดการเรียนรู้ด้านวิชาการไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งเป็นเกมที่สนุกสนาน เล่นง่าย และสามารถสร้างความสัมพันธ์ระหว่าง ครอบครัว กลุ่มเพื่อน โดยอาศัยความร่วมมือของหลายฝ่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคธุรกิจ เพื่อให้สร้างประโยชน์ในการสร้างความตระหนักรู้ด้านการประกันชีวิต และการประกันวินาศภัย และมีความคาดหวังว่าจะทำให้ผู้เล่นเห็นความสำคัญของการบริหารความเสี่ยงด้วยการทำประกันชีวิต และการประกันวินาศภัย และตัดสินใจทำประกันชีวิตและการประกันวินาศภัยเมื่อมีความพร้อมในอนาคต ซึ่งจะเป็นส่วนช่วยให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ สังคม และประเทศชาติต่อไป
ต่อจากนั้นเลขาธิการ คปภ. ได้นำคณะผู้บริหารสำนักงาน คปภ. และนักศึกษา วปส. 11 ร่วมทำกิจกรรมเพื่อสังคม (Corporate Social Responsibility : CSR) โดยนำสิ่งของอุปโภคบริโภคของนักศึกษาที่ร่วมบริจาค ประกอบด้วย ข้าวสาร อาหารแห้ง น้ำดื่ม อุปกรณ์การเรียน เครื่องเขียน เป็นต้น และเงินร่วมบริจาค จำนวน 308,501 บาท ณ โรงเรียนภูเก็ตปัญญานุกูล เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2566
“ต้องขอชื่นชมนักศึกษา วปส. 11 ที่ได้ทุ่มเทความรู้ความสามารถอย่างเต็มที่ในการค้นคว้าและนำเสนอรายงานวิชาการ โดยทั้ง 6 เรื่อง ล้วนเป็นประเด็นร่วมสมัย และผลการศึกษาจะเป็นประโยชน์แก่อุตสาหกรรมประกันภัยและประชาชนผู้เอาประกันภัยเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งผมและอาจารย์ที่ปรึกษาได้ซักถามและให้ข้อแนะนำต่าง ๆ เพื่อให้นำไปปรับปรุงรายงานวิชาการให้ดียิ่งขึ้น และจะได้มีการประชุมเพื่อคัดเลือกสุดยอดรายงานวิชาการดีเด่นเพื่อนำเสนอในงานสัมมนาวิชาการของสำนักงาน คปภ. และนำลงพิมพ์เผยแพร่ในวารสารด้านประกันภัยต่อไป” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย