เลขาธิการ คปภ. ร่วมกับสมาคมศิษย์เก่า วปส.และนักศึกษาหลักสูตร วปส. รุ่นที่ 10 ส่งมอบห้องความดันลบ (Negative Pressure)ให้แก่โรงพยาบาลหัวหินและโรงพยาบาลกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อสู้ภัย COVID-19

เลขาธิการ คปภ. ร่วมกับสมาคมศิษย์เก่า วปส.และนักศึกษาหลักสูตร วปส. รุ่นที่ 10 ส่งมอบห้องความดันลบ (Negative Pressure)ให้แก่โรงพยาบาลหัวหินและโรงพยาบาลกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อสู้ภัย COVID-19

เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2565 ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) นำคณะผู้บริหารสำนักงาน คปภ. ร่วมกับผู้แทนสมาคมศิษย์เก่า วปส. และผู้แทนภาคอุตสาหกรรมประกันภัย ส่งมอบห้อง Negative Pressure เพื่อใช้ในการป้องกันและรักษาการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ให้กับโรงพยาบาลของรัฐ จำนวน 2 แห่ง ประกอบด้วย โรงพยาบาลหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยมี นายแพทย์ สุวิทย์ ปานดิษฐ รองผู้อำนวยการฝ่ายกิจการพิเศษ โรงพยาบาลหัวหิน เป็นผู้รับมอบ และโรงพยาบาลกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยมี ทันตแพทย์ วิทยา  โปธาสินธุ์ ทันตแพทย์เชี่ยวชาญ ด้านทันตสาธารณสุข รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลกุยบุรีเป็นผู้รับมอบ โดยมีคณะนักศึกษาหลักสูตร วปส. รุ่นที่ 10 ร่วมส่งมอบด้วย

เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า สำนักงาน คปภ. เป็นหน่วยงานของรัฐ มีภารกิจหน้าที่ในด้านการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยให้มีศักยภาพและเข้มแข็ง ตลอดจนคุ้มครองประชาชนและผู้เอาประกันภัยให้ได้รับสิทธิประโยชน์จากการประกันภัยอย่างครบถ้วน ได้บูรณาการร่วมกับสมาคมศิษย์เก่า วปส. ภาคอุตสาหกรรมประกันภัย และหน่วยงานเครือข่ายความร่วมมือทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ในการบริจาคเงินเพื่อช่วยจัดหาและจัดสรรวัคซีนซิโนฟาร์ม จากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จำนวน 20,000 โดส ให้กับประชาชนกลุ่มผู้พิการและกลุ่มเปราะบาง โดยได้คัดเลือกกลุ่มเป้าหมาย พร้อมทั้งประสานกับหน่วยงานความร่วมมือในการจัดหาสถานที่และบุคลากรทางการแพทย์ในการให้บริการฉีดวัคซีน กว่า 30 แห่งใน 18 จังหวัด ทั่วประเทศ ซึ่งได้เริ่มดำเนินโครงการความร่วมมือ “ประกันภัยรวมใจมอบวัคซีนต้านโควิดสู่ประชาชน” เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2564 จำนวน 1,030 ราย ณ โรงพยาบาลค่ายภาณุรังษี จังหวัดราชบุรีและต่อมาได้ฉีดวัคซีนให้กับประชาชนกลุ่มผู้พิการและกลุ่มเปราะบาง ครบจำนวนเป้าหมายในเดือนพฤศจิกายน 2564 กว่า 10,000 ราย เรียบร้อยแล้ว

จากสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีจำนวนกว่า 70 รายต่อวัน ซึ่งสำนักงานคปภ. ได้รับทราบถึงความต้องการและความจำเป็นของโรงพยาบาลหัวหิน และโรงพยาบาลกุยบุรี ซึ่งขอรับการสนับสนุนในการจัดสร้างห้องความดันลบเพื่อดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด–19 เพื่อรักษาผู้ป่วยโควิด-19 และช่วยลดการแพร่ระบาดต่อบุคลากรทางการแพทย์ที่เข้าไปรักษาผู้ป่วยโควิด-19 สำนักงานคปภ. สมาคมศิษย์เก่า วปส. และภาคอุตสาหกรรมประกันภัย ได้เห็นถึงความจำเป็นดังกล่าว จึงได้ใช้เงินบริจาคที่เหลือจากการจัดซื้อวัคซีนโควิด-19 มาใช้สนับสนุนในการสร้างห้องความดันลบที่ได้มาตรฐานซึ่งดำเนินการจัดสร้างโดยคุณธรรม์  เรืองวิทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไฮจินิค โซลูชั่น จำกัด โดยได้ร่วมสมทบบริจาคงบประมาณในการจัดสร้างด้วยเพื่อช่วยเหลือแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ ให้สามารถดูแลผู้ป่วยได้อย่างปลอดภัย

นายแพทย์ สุวิทย์  ปานดิษฐ รองผู้อำนวยการฝ่ายกิจการพิเศษ โรงพยาบาลหัวหิน กล่าวว่า รู้สึกดีใจและขอขอบคุณแทนประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ ที่สำนักงาน คปภ. สมาคมศิษย์เก่า วปส. และภาคอุตสาหกรรมประกันภัย ตลอดจนคณะนักศึกษาหลักสูตร วปส. รุ่นที่ 10 ได้ร่วมกันส่งมอบห้องความดันลบ(Negative Pressure) ให้แก่โรงพยาบาลหัวหิน ซึ่งทำให้โรงพยาบาลมีความพร้อมในการรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และช่วยสร้างขวัญกำลังใจให้กับบุคลากรทางการแพทย์ได้เป็นอย่างดี

ด้านทันตแพทย์ วิทยา  โปธาสินธุ์ ทันตแพทย์เชี่ยวชาญ ด้านทันตสาธารณสุข รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลกุยบุรี กล่าวขอบคุณแทนประชาชนชาวอำเภอกุยบุรีและบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ที่ได้มีการมอบห้องความดันลบ (Negative Pressure) ให้แก่โรงพยาบาลกุยบุรี ซึ่งโรงพยาบาลแห่งนี้เป็นโรงพยาบาลเล็ก ๆ ที่ห่างจากตัวจังหวัด แต่มีผู้ป่วยโควิด-19 เข้ามารับการรักษา ห้องความดันลบที่ได้รับมอบจึงทำให้โรงพยาบาลมีความพร้อมในการรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคและสร้างความมั่นใจให้กับบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ที่ดูแลผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

“สำนักงาน คปภ. ขอขอบคุณบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขทุกท่านที่เสียสละและทำงานอย่างหนักในการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 และขอขอบคุณสมาคมศิษย์เก่า วปส. ภาคอุตสาหกรรมประกันภัยและคณะนักศึกษาหลักสูตร วปส. รุ่นที่ 10 ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ได้ร่วมแรงร่วมใจบริจาคเงินสร้างและร่วมกันส่งมอบห้องความดันลบ (Negative Pressure) ซึ่งมีความจำเป็นและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการปฏิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขในสถานการณ์ปัจจุบัน” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย

ข่าวเกี่ยวข้อง