เคทีซีเชิญอาจารย์มทร.พระนครร่วมทริป “The Secret of พระนคร” หวังส่งต่อความรู้ประวัติศาสตร์แก่นักศึกษา
เคทีซีผนึกมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระนคร (มทร.) เชิญอาจารย์ร่วมเดินทางกับ KTC PR Press Club : The Secret of พระนคร ตอน “เริงพระนครตะลอนสยามอารยะ” ซึ่งเคทีซีจัดขึ้นเพื่อร่วมสืบสานเรื่องราวประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่า เพื่อส่งมอบความรู้ที่เป็นประโยชน์ผ่านสื่อมวลชนและกลุ่มคณาจารย์ ด้วยหวังให้มีการนำประสบการณ์ความรู้ที่ได้ไปถ่ายทอดและต่อยอดความรู้นอกห้องเรียนให้กับประชาชนและนักศึกษา ซึ่งสอดคล้องกับหนึ่งในเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสังคมของสหประชาชาติ ว่าด้วยการสร้างหลักประกันให้ทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต
นางสาวดวงกมล อินทรพราหมณ์ ผู้อำนวยการ - บริหารเงินและการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน “เคทีซี” กล่าวว่า “เคทีซีได้จัดกิจกรรม KTC PR Press Club : The Secret of พระนคร ตอน “เริงพระนครตะลอนสยามอารยะ” เป็นครั้งที่ 3 ของปีนี้ โดยได้เชิญคณาจารย์จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระนคร (วังนางเลิ้ง) เข้าร่วมในทริป เพื่อรับประสบการณ์ตรงจากการได้สัมผัสกับสถานที่จริงและเรื่องเล่าจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ อาจารย์ธานัท ภุมรัช เลขานุการศูนย์ประวัติศาสตร์ข้อมูลชุมชนธนบุรี และผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ ด้วยหวังว่าคณาจารย์จะได้นำความรู้และเรื่องราวที่เป็นประโยชน์และเหตุการณ์ประวัติศาสตร์สำคัญไปถ่ายทอดให้กับนักศึกษา เพื่อประโยชน์ทางการศึกษาต่อไป ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์ที่เคทีซีในฐานะองค์กรแห่งการเรียนรู้ ตั้งใจสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีพ (Lifelong Learning) ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสังคมของเคทีซี”
“กิจกรรมครั้งนี้เราได้ร่วมย้อนรอยความเจริญก้าวหน้าของบ้านเมือง และการพัฒนาสยามสู่ความเป็นอารยประเทศในช่วงรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 กับ The Secret of พระนคร ตอน “เริงพระนครตะลอนสยามอารยะ” โดยเริ่มต้นเรื่องลับที่ “หอวชิราวุธานุสรณ์” รับรู้พระราชกรณียกิจในการพัฒนาประเทศช่วงรัชกาลที่ 6 ยุคต่อยอดสังคมสยามสู่ความเป็นสากล เรื่องราวของ “หลวงประดิษฐบาทุกา” ผู้ตัดฉลองพระบาทถวายรัชกาลที่ 6 กับร้านเครื่องหนังฝีมือคนไทย “ร้านเซ่งชง” ซึ่งเปิดกิจการมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ชมสาธิตการทำ “น้ำปรุง” เครื่องหอมไทยชั้นสูงที่ได้จากการสกัดกลิ่นหอมของดอกไม้หลายชนิด ณโรงแรม “เดอะ ระวีกัลยา แบงค็อก” อดีตเป็นเรือนของพระนมทัต พึ่งบุญ ณ อยุธยา ผู้อภิบาลรัชกาลที่ 6 เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ “บ้านพิบูลธรรม” ที่ครั้งหนึ่งรัชกาลที่ 6 เสด็จฯ ประทับ อาคารฝรั่งสองยุคที่มีจิตรกรรมงามจับตาโดยฝีมือจิตรกรเอกชาวอิตาเลียน ที่ฝากผลงานเรื่องรามเกียรติ์แห่งเดียวในสยามประเทศ ปิดท้ายที่ “สถานีรถไฟกรุงเทพ” กับประวัติศาสตร์การขนส่งทางรถไฟ สถาปัตยกรรมทันสมัย ในยุคนั้น รวมถึงต้นกำเนิดและเหตุผลของการสร้างขึ้นท่ามกลางบริบทสังคม - เศรษฐกิจ - การเมืองที่ทำให้ไทยทัดเทียมกับนานาประเทศ”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อำนาจ เอี่ยมสำอางค์ คณบดีคณะศิลปศาสตร์ (วังนางเลิ้ง) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร กล่าวว่า “ทางมหาวิทยาลัยเทคโนโยลีราชมงคลพระนคร ยินดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมครั้งนี้ เป็นกิจกรรมที่ดีมาก เพราะในบางสถานที่ บางแห่งก็ยัง ไม่เป็นที่รู้จักหรือเข้าถึง เคทีซีได้พาเข้าไปเปิดมุมมองมิติใหม่ ซึ่งอาจารย์สามารถนำประสบการณ์ที่ได้ไปปรับใช้เพื่อให้ความรู้กับนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยได้อย่างดี ทั้งการชี้พื้นที่ใหม่ๆ ในการเก็บข้อมูลหรือถ่ายทอดประวัติศาสตร์เรื่องราววัฒนธรรมเดิมของเรา เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ และอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทยให้คงอยู่สืบไป”
ดร.ชัยวุฒิ ชัยฤกษ์ ผู้ช่วยคณบดี คณะศิลปศาสตร์ (วังนางเลิ้ง) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร กล่าวว่า “รู้สึกประทับใจกับกิจกรรมของเคทีซีมากๆ แต่ละสถานที่ที่ทางเคทีซีคัดสรรมาเป็นสถานที่ที่ดีมาก และมีสิ่งน่าสนใจมากมาย หลายๆ อย่างเราสามารถถอดเป็นบทเรียนนำไปถ่ายทอดให้กับนักศึกษา หรือนำนักศึกษามาชมตามรอยกิจกรรมของเคทีซี เพื่อสืบสานประวัติศาสตร์ต่อไป”