สยามราชธานี (SO) รายได้ปี 2565 นิวไฮ 2.3 พันล้าน เติบโต 10% บอร์ดอนุมัติปันผล 0.20 บาท ปี2566 เทรนด์ธุรกิจลีนองค์กร หันจ้าง outsource พุ่ง! หนุนรายได้โตมากกว่า 10%
สยามราชธานี (SO) ผลการดำเนินงานปี 2565 ทำรายได้รวมสูงสุดใหม่ 2,320 ล้านบาท เติบโต10% เทียบจากปีก่อน รับเทรนด์ลูกค้าเปลี่ยนนโยบายมาใช้ outsourcing พุ่ง! ตั้งเป้ารายได้ปี 2566 เติบโตมากกว่า 10 % รับปีแห่งการ ทรานฟอร์เมชั่น หลายบริษัทกลับมา Lean องค์กรรักษาการแข่งขันด้านต้นทุน มองหานวัตกรรมใหม่ช่วยกระบวนการทำงานมากขึ้น SO ย้ำ! มีทีมงานพร้อมเข้าไปให้คำปรึกษา ลุยจับมือพาร์ทเนอร์นำเข้านวัตกรรมใหม่ ๆ เสริมศักยภาพด้าน outsource ต่อเนื่อง พร้อมเดินหน้าสู่บริษัท Tech Company ล่าสุดบอร์ดมีมติให้เสนอที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 อนุมัติจ่ายเงินปันผลในอัตราหุ้นละ 0.20 บาท
นางสาวกัณธิมา แจ้งวันสุข กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามราชธานี จำกัด (มหาชน) หรือ SO ผู้นำด้านธุรกิจการจ้างเหมาบริการครบวงจร (Outsourcing Services) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานในปี2565 บริษัทสามารถทำรายได้รวมสูงสุดใหม่ (New High) อยู่ที่ 2,320 ล้านบาท เติบโต 10% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยหลักเกิดจากเทรนด์ลูกค้าที่เปลี่ยนนโยบายมาใช้ outsourcing มากขึ้น
ในส่วนอัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin) ปรับตัวลดลงเล็กน้อย เนื่องจากต้นทุนดำเนินการที่สูงขึ้น โดยเฉพาะค่าพนักงานทดแทนสำหรับพนักงาน outsource ที่ติดเชื้อโควิดระหว่างการดำเนินงานตามสัญญา และค่าซ่อมในส่วนของรถยนต์ให้เช่า โดยบริษัทมีกำไรสุทธิปี 2565 อยู่ที่ 169 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.30% เทียบจากปีก่อน และมีสินทรัพย์รวม จำนวน 1,917 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24.55% โดยมาจากการเพิ่มขึ้นของรายการสินทรัพย์ให้เช่า จากจํานวนรถยนต์ให้เช่าที่เพิ่มขึ้นจํานวน 318 คัน
"การเปลี่ยนแปลงหลาย ๆ อย่างในทุกวันนี้ โดยเฉพาะจากโรคระบาดและความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ส่งผลให้ธุรกิจต้องปรับตัวและพยายามรักษาความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน หลายๆ บริษัทเริ่มให้ความสำคัญกับกิจกรรมหลักที่สร้างคุณค่าให้แก่องค์กรมากขึ้น และใช้กลยุทธ์ outsource ในการแบ่งเบาภาระการบริหารจัดการสนับสนุนฟังก์ชั่นต่าง ๆ เช่น การซ่อมบำรุง การขนส่ง และการจัดการด้านเอกสาร ซึ่งทั้งหมดล้วนจะเป็นผลดีต่อธุรกิจของเราต่อไปในอนาคตอย่างมาก" นางสาวกัณธิมา กล่าว
ทั้งนี้ในปี 2565 มีบริษัทบริหารจัดการกองทุน (บลจ.) มาให้บริษัทช่วยดูแลกระบวนการทำความรู้จักกับลูกค้า (KYC) และจัดการเอกสารลูกค้า เพื่อให้ลูกค้าได้โฟกัสในส่วนงานหลักซึ่งก็คือบริหารกองทุนให้ได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น และบริษัทได้ออกแบบและพัฒนากระบวนการ Customer onboarding แบบครบวงจร (turnkey solution) โดยเปลี่ยนจากการส่งมอบแรงงานเป็นการส่งมอบทั้งกระบวนการทางธุรกิจ จัดหาเทคโนโลยีที่เหมาะสม รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับกระบวนการ (Process Optimization) เพื่อลดความสูญเสียในกิจกรรมที่ไม่จำเป็น เช่น ระยะเวลารอคอย การดำเนินการด้านเอกสารที่้ซ้ำซ้อน การจัดเก็บที่ไม่เป็นระบบ เป็นต้น
นางสาวกัณธิมา กล่าวว่า สำหรับภาพรวมในปี 2566 บริษัทตั้งเป้ารายได้จะเติบโตมากกว่า 10 % เทียบจากปีก่อน เนื่องจากเป็นปีแห่งการทรานฟอร์เมชั่น หลายบริษัทเริ่มหันกลับมาใช้กลยุทธ์การลดหรือตัดสิ่งที่ไม่จำเป็นทั้งเรื่องของเวลาและเงินทุน (Lean) ขององค์กร เพื่อรักษาความสามารถการแข่งขันด้านการบริการจัดการต้นทุน รวมไปถึงการหานวัตกรรมใหม่ ๆ มาช่วย Digitize กระบวนการทำงานมากขึ้นซึ่งบริษัทเองมีทีมงานพร้อมเข้าไปให้คำปรึกษาเรื่องกระบวนการแปลงข้อมูลให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล(Digitization) และการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับกระบวนการ (Process Optimization)
นอกจากนี้จากการที่บริษัทมีความสัมพันธ์กับลูกค้าในทุกอุตสาหกรรมกว่า 700 สัญญา และส่งบุคลากร outsource กว่า 10,000 อัตรา บริษัทมีความพร้อมที่จะเป็นศูนย์ทดสอบนวัตกรรม (Sandbox) เพื่อช่วยฟักตัว (Incubate) บริษัทเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพและต้องการเงินทุน
โดยปัจจุบันได้เริ่มโครงการกับบริษัท outsource และบริษัท IT Implementor บางรายแล้ว ซึ่งหากพิจารณาแล้วมีศักยภาพ บริษัทพร้อมลงทุนและร่วมพัฒนาธุรกิจเพื่อเติบโตไปด้วยกัน "โดยในปีที่แล้วเราได้มีการร่วมมือกับบริษัทสตาร์ทอัพที่เชี่ยวชาญ AI การวางแผนการดำเนินงานขนส่ง (Route Optimization) ที่จะช่วยจัดการเส้นทางการเดินรถ และอยู่ระหว่างพูดคุยกับ Technology Partner อื่น ๆโดยเฉพาะผู้ให้บริการ HRM Platform ผู้ให้บริการการรู้จำอักขระด้วยแสง หรือ OCR และผู้ให้บริการระบบการจ่ายค่าแรงรายวัน" นางสาวกัณธิมา กล่าว
นอกจากนี้ในปีนี้บริษัทยังคงพัฒนาความสามารถของส่วนธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยในกระบวนการทางธุรกิจ โดยเฉพาะ Flow หรือ Business Management Application ที่บริษัทพัฒนาขึ้นมาเอง จะช่วยในการวางกระบวนการด้านเอกสารและกระบวนการทำงานต่าง ๆ และเก็บข้อมูลเพื่อนำมาสร้างเป็น Dashboard เพื่อให้หัวหน้างานและผู้บริหารทราบถึงข้อมูล สามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาองค์กรได้ในระยะยาว
และบริษัทยังคงหาพาร์ทเนอร์ที่จะช่วยเสริมศักยภาพการให้บริการ outsource โดยเฉพาะProfessional Training ที่จะช่วย Reskill บุคลากรให้ตรงกับความต้องการตลาด โดยเฉพาะบุคลากรด้านไอทีและนักวิเคราะห์ นอกจากนี้บริษัทยังคงหาพาร์ทเนอร์เพื่อนำเข้านวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อมาเสริมศักยภาพด้าน outsource อย่างต่อเนื่อง พร้อมเดินหน้าไปสู่การเป็นบริษัท Tech Company ตามแผนจากเดิมเป็น Traditional Outsourcing
อย่างไรก็ดีที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566 ได้มีมติให้เสนอที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 ในวันที่ 19 เมษายน 2566 พิจารณาอนุมัติการจ่ายเงินปันผลสำหรับผลการดำเนินงาน 6 เดือนหลังของปี 2565 ในอัตราหุ้นละ 0.20 บาท โดยจะขึ้นเครื่องหมาย XD วันที่ 28 เมษายน 2566 และวันกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิรับเงินปันผล (Record Date) ในวันที่ 2 พฤษภาคม2566 และกำหนดวันจ่ายเงินปันผลในวันที่ 17 พฤษภาคม 2566
ซึ่งหากได้รับอนุมัติจากที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 จะถือว่าบริษัทได้จ่ายเงินปันผลรวมตลอดทั้งปี 2565 ในอัตราหุ้นละ 0.35 บาท โดยได้จ่ายเงินปันผลสำหรับผลการดำเนินงาน 6 เดือนแรกของปี 2565 ไปแล้วเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2565 ในอัตราหุ้นละ 0.15 บาท