สมาคมประกันวินาศภัยไทย ลงพื้นที่เยี่ยมชมต้นแบบการบริหารจัดการน้ำใต้ดินเพื่อการเกษตร ในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้
ดร.สมพร สืบถวิลกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย และประธานคณะกรรมการกองทุนประกันภัยพืชผล พร้อมด้วยคณะกรรมการกองทุนฯ และผู้บริหารสมาคมประกันวินาศภัยไทย ลงพื้นที่เยี่ยมชมผลการดำเนินงานโครงการบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตร ซึ่งเป็นต้นแบบการบริหารจัดการน้ำใต้ดินในพื้นที่แห้งแล้งที่อยู่นอกเขตชลประทาน เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแหล่งน้ำที่ใช้ในการเกษตร เปลี่ยนพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ที่แห้งแล้ง เป็น ทุ่งกุลายิ้มได้ ที่มีน้ำใช้ในการเกษตรอย่างเพียงพอและยั่งยืน พร้อมเยี่ยมชมผลผลิตจากแปลงสาธิตการเพาะปลูกพืชผลนอกฤดูกาล โดยมีเป้าหมายส่งเสริมและสนับสนุนให้ชุมชนและเกษตรกรมีอาชีพ มีรายได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นตามแนวทาง ESG พร้อมผลักดันการดำเนินงานเชิงทฤษฎีไปสู่การปฏิบัติเพื่อสร้างนวัตกรเกษตรรุ่นใหม่ ที่สามารถนำความรู้มาประยุกต์ใช้ในการทำเกษตรกรรมที่ยั่งยืนต่อไป โดยมีอาจารย์ สุบรรณ์ ทุมมา ผู้ช่วยอธิการบดี ประจำวิทยาเขตร้อยเอ็ด ณ ทุ่งกุลาร้องไห้ ให้การต้อนรับ ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร.อีสาน) วิทยาเขตร้อยเอ็ด ณ ทุ่งกุลาร้องไห้ เมื่อเร็ว ๆ นี้
ทั้งนี้ ในปี 2563 สมาคมฯ ได้มีโครงการความร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตร้อยเอ็ด ในการดำเนินงานโครงการบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตรครบวงจรในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ สร้างศูนย์การเรียนรู้และต้นแบบการจัดการน้ำใต้ดินให้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอและยั่งยืน แก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ด้วยการพัฒนาแหล่งน้ำในชุมชนเพื่อใช้ในการอุปโภค บริโภค และการเกษตร ยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับเกษตรกรไทย พร้อมทั้งจัดตั้งเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ แลกเปลี่ยนข้อมูลเทคโนโลยี และนวัตกรรมการเกษตรใหม่ ๆ ด้านการบริหารจัดการน้ำใต้ดินครบวงจรที่สามารถนำมาพัฒนาสิ่งแวดล้อมตามแนวทาง ESG ที่ สมาคมฯ ถือเป็นหนึ่งในพันธกิจสำคัญด้านความรับผิดชอบต่อสังคม โดยได้ดำเนินการในพื้นที่ มทร.อีสาน วิทยาเขตร้อยเอ็ด ณ ทุ่งกุลาร้องไห้ ดังนี้
1. ปี 2563 โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรโดยการขุดบ่อธนาคารน้ำใต้ดิน จำนวน 13 บ่อ ให้กับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตร้อยเอ็ด ณ ทุ่งกุลาร้องไห้ ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 1,600 ไร่ ตั้งอยู่ที่อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด
2. ปี 2564 ศูนย์การเรียนรู้การจัดการน้ำครบวงจรด้วยระบบธนาคารน้ำใต้ดิน เพื่อเป็นต้นแบบการจัดการน้ำใต้ดินในพื้นที่แห้งแล้งที่อยู่นอกเขตชลประทาน และเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านการเพาะปลูกข้าวหอมมะลิคุณภาพสูงและพืชผลนอกฤดูกาลในภาคอีสาน เพื่อให้เกษตรกรได้เข้ามาศึกษาและขยายผลวิธีการทำเกษตรกรรมสมัยใหม่ให้เกิดการพัฒนาและสร้างความยั่งยืนในการประกอบอาชีพ
3. ปี 2565-2566 โครงการชลประทานระบบท่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำอย่างเพียงพอ ซึ่งเป็นระบบการให้น้ำทางการเกษตรที่มีประสิทธิภาพ เหมาะกับพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ที่มีแหล่งน้ำจำกัด โดยให้เกษตรกรเข้ามาเรียนรู้การวางระบบด้วยการจัดสรรพื้นที่ให้เกษตรกรเข้ามาประกอบอาชีพเสริมตามหลักวิชาการ ช่วยเหลือด้านการตลาดจนเกิดความชำนาญและประสบการณ์ ก่อให้เกิดอาชีพเสริมและรายได้เพิ่มขึ้นก่อนที่จะออกไปลงทุนในพื้นที่ของตนเองต่อไป
4. ปี 2565-2566 โครงการศูนย์การเรียนรู้ผสมผสานพืชอาหารและการเลี้ยงสัตว์ด้วยระบบพลังงานทดแทน ภายใต้ BCG model สร้างโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ เช่น ไก่ไข่ แพะ ระบบหมักอาหารสัตว์ ระบบควบคุมฟาร์มอัตโนมัติ ระบบปรับสภาพน้ำด้วยชีวภาพ โดยการนำพลังงานทดแทนมาเป็นแหล่งพลังงานในการใช้ระบบฟาร์ม เพื่อให้เกษตรกรเข้ามาเรียนรู้และเป็นแปลงสาธิตแก่เกษตรกรตามหลักวิชาการ
จากการดำเนินโครงการศูนย์การเรียนรู้และโครงการต่าง ๆ มทร.อีสาน วิทยาเขตร้อยเอ็ด ณ ทุ่งกุลาร้องไห้ ได้เปิดโอกาสให้เกษตรกรและหน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาเยี่ยมชมและศึกษาดูงาน พร้อมทั้งจัดสรรพื้นที่ให้เกษตรกรเข้ามาประกอบอาชีพเสริม อบรมเรียนรู้การวางแผนเพาะปลูกพืชชนิดต่าง ๆ โดยการใช้ระบบน้ำในการปลูกพืช ภายใต้โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรที่ได้รับการสนับสนุนจากสมาคมฯ จนกระทั่งก่อเกิดความชำนาญกลายเป็นเกษตรกรมืออาชีพ (Smart Farmer) ที่สามารถประกอบอาชีพเกษตรกรรมได้อย่างยั่งยืน