รัฐมนตรีคลัง เป็นประธานเปิดหลักสูตร วปส. รุ่นที่ 10 ของสำนักงาน คปภ. มอบนโยบายประกันภัยเชิงรุกตอบโจทย์ความเสี่ยงใหม่นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้พร้อมย้ำให้ระบบประกันภัยต้องคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชน
ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2565 ได้รับเกียรติจาก นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานในพิธีเปิดการศึกษาอบรมหลักสูตรวิทยาการประกันภัยระดับสูง (วปส.) รุ่นที่ 10 ประจำปี พ.ศ. 2565 ณ ห้อง เลอ คองคอร์ด บอลรูม ชั้น 2 โรงแรมสวิสโฮเต็ล รัชดา กรุงเทพมหานคร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและธุรกิจประกันภัย ให้มีองค์ความรู้ด้านการประกันภัย ทั้งการประกันชีวิต การประกันวินาศภัย การบริหารจัดการความเสี่ยงภัยในด้านต่าง ๆ และมีการแลกเปลี่ยนความรู้ ข้อคิดเห็น ตลอดจนการเป็นผู้นำที่มีคุณธรรม จริยธรรม และการบริหารจัดการเชิงสร้างสรรค์ นำองค์กรไปสู่ความสำเร็จโดยสอดคล้องกับสภาวการณ์การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมของโลก
ในโอกาสนี้ นายอาคม พิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ“นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืนของประเทศกับบทบาทของประกันภัยในยุค New Normal” โดยมีใจความตอนหนึ่งว่า สำนักงาน คปภ. มีบทบาทที่สำคัญในการพัฒนาและวางรากฐานของธุรกิจประกันภัยในประเทศไทยให้มีความมั่นคงและน่าเชื่อถือในระดับสากล รวมทั้งส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยใหม่ ๆ เพื่อเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงของประชาชนอย่างทั่วถึงและทำให้ระบบการประกันภัยของประเทศไทยมีมาตรฐานเทียบเท่ากับระดับสากล แต่สิ่งที่ยังต้องดำเนินการต่อไปก็คือจะทำอย่างไรให้ธุรกิจประกันภัยมีความมั่นคงและเติบโตอย่างยั่งยืนจากกระแสการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก ควบคู่ไปกับการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนด้านประกันภัย โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ สภาพความเป็นอยู่ของสังคม และประชาชนทุกภาคส่วนทั่วโลกและของไทย ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการเตรียมความพร้อมในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศให้มีประสิทธิภาพในทุกมิติ เพื่อเป็นแนวทางในการวางแผนกำกับดูแลด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของธุรกิจประกันภัยในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็น Digital Insurance Regulator เพื่อสร้างมาตรฐานการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงการเตรียมความพร้อมของอุตสาหกรรมประกันภัยเพื่อรองรับการดำเนินงานตามกรอบความร่วมมือประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ตลอดจนแผนพัฒนาดิจิทัลของรัฐบาลที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งในภาครัฐภาคเอกชน และภาคประชาชน
นอกจากนี้มีความเชื่อมั่นว่าในระยะต่อไป หลังจากที่เราผ่านพ้นวิกฤตโควิดแล้ว ยังเชื่อว่าธุรกิจประกันภัยจะเป็นเครื่องมือในการระดมเงินออมไปสู่การลงทุนที่สำคัญ พร้อมมอบนโยบาย 3 เรื่อง ดังนี้ 1. เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของประชาชน ไม่ใช่แค่ประเทศไทย แต่เป็นทั่วโลกโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและพัฒนาโมบายแอปให้ทุกคนเข้าถึงได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้น รวมถึงการให้บริการภาครัฐ การทำธุรกรรมระหว่างเอกชนกับภาครัฐ โดยเฉพาะระบบการชำระภาษี ก็มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว เชื่อว่าดิจิทัลจะเป็นเรื่องหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในช่วงหลังโควิดและการทำธุรกิจ การทำธุรกรรมก็ผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น 2. การเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ ทั่วโลกเริ่มมีความรุนแรงมากขึ้น ทั้งที่เกิดจากมนุษย์ และจากภัยธรรมชาติ เรื่องนี้ก็เกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจประกันภัยที่ดำเนินการมาคือ การประกันภัยพืชผลทางการเกษตร ซึ่งรัฐบาลได้ดำเนินการโครงการพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ ได้แก่ การประกันภัยข้าวนาปี และการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งเป็นหลักประกันให้เกษตรกรผ่านระบบประกันภัยเข้ามาบริหารจัดการความเสี่ยง และได้ดำเนินการในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พบว่าประสบความสำเร็จด้วยดีมาโดยตลอด ซึ่งแน่นอนว่าความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติที่คาดการณ์ไม่ได้ อาจจะทำให้ผลการดำเนินงานไม่เป็นไปตามคาด แต่ช่วยลดภาระภาครัฐในการช่วยเหลือเกษตรกร สำหรับผลิตภัณฑ์ประกันภัยจะต้องมีการพัฒนาต่อเนื่องไป และ 3. สภาพสังคมเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมสูงอายุ เรื่องนี้เป็นปัจจัยหนึ่งที่ภาคธุรกิจประกันภัยจะต้องคำนึง และการให้ประกันภัยเข้ามาดูแลประชาชนพร้อมยืนยันอีกว่าระบบประกันภัยยังมีความมั่นคง และหลักสูตรควรจัดให้มีการนำ Case Study มาถกเพื่อระดมความคิดเห็น พร้อมข้อเสนอแนะเพื่อหาแนวทางการแก้ไข โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคธุรกิจประกันภัย และหน่วยงานกำกับดูแลจะร่วมมือกันผลักดันให้ระบบประกันภัยไทยมีการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนและได้รับความเชื่อถือไว้วางใจจากประชาชนในการนำระบบประกันภัยเข้าไปเป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงภัยในทุกมิติอย่างครบวงจร
ในการนี้ เลขาธิการ คปภ. ได้กล่าวรายงานเกี่ยวกับหลักสูตร วปส. รุ่นที่ 10 ว่าการคัดเลือกผู้เข้ารับการศึกษาอบรมหลักสูตรวิทยาการประกันภัยระดับสูง (วปส.) รุ่นที่ 10 ประจำปี พ.ศ. 2565 คณะกรรมการสถาบันวิทยาการประกันภัยระดับสูง ได้มีกระบวนการคัดเลือกอย่างเข้มข้นจนได้ผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคธุรกิจประกันภัย เข้าร่วมรับการอบรมจำนวนทั้งสิ้น 80 คนประกอบด้วย ภาคเอกชน จำนวน 48 คน ภาครัฐ จำนวน 12 คน ภาคการเงิน จำนวน 5 คน และภาคธุรกิจประกันภัย จำนวน 15 คน เริ่มการศึกษาอบรมฯ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนสิงหาคม 2565 สำหรับกิจกรรมการศึกษาอบรมในหลักสูตร วปส. รุ่นที่ 10 แบ่งออกเป็น 8 หมวด ประกอบด้วย หมวดที่ 1 ประกันภัยกับการพัฒนาเศรษฐกิจเชิงรุกในระดับประเทศและในเวทีระหว่างประเทศ หมวดที่ 2 บทบาทธุรกิจประกันวินาศภัยไทยในการขับเคลื่อนภารกิจเพื่อชาติ หมวดที่ 3 การขับเคลื่อนเทคโนโลยีประกันภัย(InsurTech) หมวดที่ 4 บทบาทของธุรกิจประกันชีวิตกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก เศรษฐกิจ และสังคมไทย หมวดที่ 5 ปรัชญาในการบริหารสำหรับผู้นำในยุคดิจิทัล หมวดที่ 6 การสร้างบรรษัทภิบาลกับการดำเนินธุรกิจสู่เป้าหมายแห่งความยั่งยืน หมวดที่ 7 ประเด็นร่วมสมัย และหมวดที่ 8 กิจกรรมพิเศษโดยแต่ละหมวดหัวข้อที่กล่าวมาข้างต้นได้มีการปรับปรุงให้มีความเข้มข้น ทันสมัย และสอดรับกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วที่มีผลต่ออุตสาหกรรมประกันภัย ตั้งแต่ด้านการบริหารความเสี่ยง การประกันวินาศภัย การประกันชีวิต การประกันสุขภาพกับการขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ นวัตกรรมประกันภัยในด้านต่าง ๆ การปรับตัวของสถาบันการเงินในยุคดิจิทัล จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิทั้งในและต่างประเทศ โดยเป็นหลักสูตรเดียวที่มีการถ่ายทอดความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์แบบเจาะลึกด้านประกันภัยในทุกมิติ
“สำนักงาน คปภ. จะน้อมนำนโยบายของท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมาปฏิบัติในการขับเคลื่อน การกำกับดูแลด้านประกันภัย รวมทั้งจะนำข้อแนะนำเรื่องการจัดให้มี Case Study มาให้นักศึกษา วปส. รุ่นที่ 10 ถกแถลงเพื่อระดมความคิดเห็น ถอดบทเรียนเพื่อมาปรับปรุงระบบประกันภัยที่ก้าวต่อไป หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของ Covid-19 โดยเน้นเฉพาะการถอดบทเรียนเกี่ยวกับกรณีของประกันภัยโควิดแบบ เจอ-จ่าย-จบ และกรณีอื่น ๆ ที่น่าสนใจ” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย