มาดามแป้ง ทูตยูนิเซฟ ประเทศไทย ร่วมขับเคลื่อนประเด็นการขยายเงินอุดหนุนเด็กเล็กเป็นแบบถ้วนหน้าเพื่อไม่ให้มีเด็กคนใดตกหล่น
กรุงเทพฯ, 16 ตุลาคม 2566 – “มาดามแป้ง” นวลพรรณ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ในฐานะ ทูตองค์การยูนิเซฟ ประจำประเทศไทย ลงพื้นที่ร่วมทำงานกับยูนิเซฟ เพื่อขับเคลื่อนประเด็นการขยายเงินอุดหนุนเด็กเล็กเป็นแบบถ้วนหน้า เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีเด็กที่อายุน้อยกว่า 6 ปี คนใดในประเทศไทยต้องตกหล่นจากสวัสดิการเงินอุดหนุนนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีความสำคัญต่อคุณภาพชีวิตและการพัฒนาของพวกเขา
เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา มาดามแป้งได้ลงพื้นที่เยี่ยมชุมชนเสือใหญ่ในกรุงเทพฯ เพื่อพบกับครอบครัวที่ได้รับประโยชน์จากเงินอุดหนุนเด็กเล็ก โดยได้รับฟังเรื่องราวเกี่ยวกับปัญหาทางเศรษฐกิจของแต่ละครอบครัว และประโยชน์ของเงินอุดหนุนที่ช่วยให้พวกเขาสามารถซื้อสิ่งของจำเป็นให้แก่ลูก ๆ ได้นอกจากนี้ ยังได้พบกับครอบครัวของเด็กชายวัย 7 เดือนที่ยังไม่ได้รับสวัสดิการนี้ ทั้งที่ได้ลงทะเบียนไว้ตั้งแต่หลายเดือนก่อนหน้านี้
ข้อมูลจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในปี 2564 ชี้ให้เห็นว่าอัตราความยากจนในเด็กของประเทศไทยสูงถึงร้อยละ 10 ซึ่งสูงกว่าอัตราความยากจนเฉลี่ยของประเทศที่ร้อยละ 6 นอกจากนี้ยังพบว่า เด็ก 1 ใน 5 คนต้องเผชิญกับความยากจนหลายมิติ ซึ่งเป็นความขาดแคลนในมิติอื่นๆ ไม่ใช่เฉพาะด้านการเงิน ไม่ว่าจะเป็นการเผชิญปัญหาทางสุขภาพ การขาดการศึกษา หรือการมีคุณภาพชีวิตที่ต่ำกว่ามาตรฐาน
มาดามแป้งกล่าวว่า “การลงพื้นที่ในครั้งนี้ นับเป็นประสบการณ์ที่เปิดโลกของแป้งให้กว้างขึ้น ซึ่งต้องขอขอบคุณทั้ง 2 ครอบครัวจากใจ ที่เปิดบ้านให้แป้งได้เข้าไปพูดคุย ทำความเข้าใจ และทำให้แป้งได้เห็นจริง ๆ ว่าเงินอุดหนุนรายเดือนนี้สามารถสร้างความแตกต่างให้กับครอบครัวที่มีลูกเล็กได้ โดยเฉพาะครอบครัวที่กำลังเดือดร้อนและยากลำบาก เพราะเงินจำนวนนี้หมายถึงอาหารที่มีประโยชน์ ของเล่น ของจำเป็นเพื่อการเรียนรู้ของลูก ซึ่งเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระและบรรเทาความเครียดของพ่อแม่ที่กำลังดิ้นรนเพื่อลูก ๆ ของตนเอง สิ่งเหล่านี้ล้วนจำเป็นต่อพัฒนาการของเด็กโดยเฉพาะในช่วงขวบปีแรก ๆ ซึ่งเป็นรากฐานของการเรียนรู้และการพัฒนาศักยภาพตลอดช่วงชีวิต ดังนั้นการทำให้เด็กทุกคนในประเทศสามารถเข้าถึงเงินอุดหนุนนี้ และให้แน่ใจว่าจะไม่มีเด็กคนใด โดยเฉพาะเด็กจากครอบครัวที่ยากจนต้องตกหล่นจากสวัสดิการนี้ จึงเป็นสิ่งที่เราควรให้ความสำคัญและทำให้เกิดขึ้นจริง เพื่ออนาคตของเด็กทุกคนและของประเทศไทย”
โครงการเงินอุดหนุนเด็กเล็กถือเป็นการคุ้มครองทางสังคมขั้นต่ำสำหรับเด็กเล็ก โดยริเริ่มในปี 2558 และขยายความคุ้มครองอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีเด็กแรกเกิดถึง 6 ปีจำนวน 2.3 ล้านคนได้รับเงินอุดหนุนเดือนละ 600 บาท โดยเป็นกลุ่มที่มีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนไม่เกิน 1 แสนบาท ต่อคนต่อปี อย่างไรก็ตามสวัสดิการนี้ยังไม่สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างทั่วถึง โดยเข้าถึงเด็กแรกเกิดถึง 6 ปีได้เพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้น อีกทั้งเด็กยากจนจำนวนมากที่อยู่ในเกณฑ์ได้รับเงินอุดหนุนก็ยังคงตกหล่นจากสวัสดิการนี้เนื่องจากข้อบกพร่องในกระบวนการคัดกรองและการลงทะเบียน
ที่ผ่านมา ยูนิเซฟและภาคีเครือข่ายได้เรียกร้องให้รัฐบาลไทยขยายเงินอุดหนุนเด็กเล็กให้เป็นแบบถ้วนหน้าเพื่อไม่ให้มีเด็กคนใดต้องตกหล่นจากสวัสดิการนี้ นอกจากนี้ ยังเสนอให้ปรับเพิ่มจำนวนเงินเพื่อสะท้อนค่าใช้จ่ายในการดูแลเด็กในปัจจุบัน เนื่องจากจำนวนเงินนี้ไม่ได้ปรับมาตั้งแต่ปี 2559
การสำรวจหลายชิ้นชี้ให้เห็นว่าครอบครัวที่มีเด็กเล็กมักเผชิญกับค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นแต่มีรายได้น้อยลงและมีหนี้สินเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ เช่น วิกฤตจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา
ซาร่าห์ ชาห์ย่า หัวหน้าฝ่ายนโยบายสังคม องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า “เด็กที่โตขึ้นมากับความยากจนมักมีโอกาสที่จะพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพน้อยกว่าเด็กคนอื่น ๆ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่าเศร้าสำหรับเด็กและครอบครัวและเป็นความสูญเสียร้ายแรงของสังคม การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของประชากรไทยในปัจจุบันที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแสดงให้เห็นว่า โอกาสการลงทุนในเด็กผู้ซึ่งจะเป็นทรัพยากรอันล้ำค่านั้นเหลือไม่มากนัก ดังนั้นการคุ้มครองเด็กจากความยากจนไม่เพียงเป็นเรื่องสำคัญของประเทศไทยเท่านั้นแต่ยังเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนมากอีกด้วย”
ชาห์ย่า กล่าวเสริมว่า ประสบการณ์จากหลายประเทศได้พิสูจน์ให้เห็นว่าการขยายเงินอุดหนุนเด็กเล็กให้เป็นแบบถ้วนหน้าสามารถช่วยลดความยากจนในทุกกลุ่มประชากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยข้อมูลจากประเทศกลุ่มรายได้ปานกลางชี้ว่า สวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า ซึ่งใช้งบประมาณเพียงร้อยละ 1 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ สามารถลดอัตราความยากจนของทุกกลุ่มประชากรได้ถึงร้อยละ 20 ทั้งนี้ เราไม่ควรเลือกระหว่างการกระจายรายได้ การลดความเหลื่อมล้ำและการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพราะทั้งหมดนี้ต้องทำควบคู่กันไป