ผลประกอบการเอสซีจีประจำปี 2563 ยังแข็งแกร่ง แม้วิกฤต COVID-19

ผลประกอบการเอสซีจีประจำปี 2563 ยังแข็งแกร่ง แม้วิกฤต COVID-19

กรุงเทพฯ : 28 มกราคม 2564 นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เปิดเผยว่า “งบการเงินรวมก่อนตรวจสอบของเอสซีจี ประจำปี 2563 มีรายได้จากการขาย 399,939 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 9 จากปีก่อน จากราคาและปริมาณขายของสินค้าเคมีภัณฑ์ลดลง และมีกำไรสำหรับปี 34,144 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7 จากปีก่อน จากผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นในทุกธุรกิจ โดยปี 2563 เอสซีจีมียอดขายสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม (High Value Added Products & Services – HVA) 
126,115 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 32 ของยอดขายรวม เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน

สำหรับไตรมาสที่ 4 ปี 2563 เอสซีจีมีรายได้จากการขาย 97,250 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 4 จากไตรมาสก่อน 
จากความต้องการในสินค้าซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างลดลงผลจากปัจจัยตามฤดูกาล และผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 อีกทั้งธุรกิจเคมิคอลส์มีการหยุดซ่อมบำรุงโรงงานมาบตาพุดโอเลฟินส์ (MOC) ในไตรมาสนี้ แม้ว่าการหยุดซ่อมบำรุงนี้ทำได้เสร็จเร็วกว่าแผนที่กำหนดไว้ ทำให้สามารถชดเชยปริมาณขายที่จะลดลงไปได้บางส่วน แต่ก็ยังส่งผลให้ปริมาณขายของธุรกิจเคมิคอลส์ลดลงในไตรมาสนี้ และลดลงร้อยละ 8 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักจากปริมาณขายของธุรกิจ
เคมิคอลส์ที่ลดลง ผลจากการหยุดซ่อมบำรุงโรงงาน MOC ประกอบกับรายได้จากการขายของธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างลดลง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของCOVID-19

เอสซีจีมีกำไรสำหรับงวด 8,048 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 17 จากไตรมาสก่อน สาเหตุหลักจากผลการดำเนินงานที่ลดลง ของธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของCOVID-19 รวมถึงปัญหาฝนตกและ
น้ำท่วมในภูมิภาค ประกอบกับมีขาดทุนจากการด้อยค่าสินทรัพย์ของธุรกิจซีเมนต์ในประเทศเมียนมาและอินโดนีเซีย แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 13 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่จากผลการดำเนินงานของธุรกิจเคมิคอลส์ที่ดีขึ้น ปัจจัยหลักมาจากต้นทุนวัตถุดิบที่ลดลง

นอกจากนี้ ยังมีรายได้จากการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ รวมการส่งออกจากประเทศไทย ในปี 2563 ทั้งสิ้น 168,719 ล้านบาท โดยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 42 ของยอดขายรวม เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 41 ในปีก่อน

สินทรัพย์รวมของเอสซีจี ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563 มีมูลค่า 749,381 ล้านบาท โดยร้อยละ 38
เป็นสินทรัพย์ในอาเซียน

ผลการดำเนินงานในปี 2563 แยกตามรายธุรกิจ ดังนี้

ธุรกิจเคมิคอลส์ ในปี 2563 มีรายได้จากการขาย 146,870 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 17 จากปีก่อน จากราคาและปริมาณขายสินค้าที่ลดลง โดยมีกำไรสำหรับปี 17,667 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 14 จากปีก่อน ผลจากส่วนต่างราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น

สำหรับผลประกอบการไตรมาสที่ 4 ปี 2563 ธุรกิจเคมิคอลส์มีรายได้จากการขาย 36,035 ล้านบาท ลดลง
ร้อยละ 5 จากไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 13 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากปริมาณขายที่ลดลงจากการ
หยุดซ่อมบำรุงครั้งใหญ่ของโรงงาน MOC ที่เลื่อนมาจากแผนเดิมในไตรมาส 2 โดยมีกำไรสำหรับงวด5,837 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 จากไตรมาสก่อน สาเหตุหลักจากส่วนต่างราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น และส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมเพิ่มขึ้น และเพิ่มขึ้นร้อยละ 108 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากราคาวัตถุดิบที่ลดลงและมีกำไรจากการปรับมูลค่าสินค้าคงเหลือ

ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ในปี 2563 มีรายได้จากการขาย 171,720 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 7 
จากปีก่อน เนื่องจากผลของสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 และสภาพเศรษฐกิจที่ยังคงมีความท้าทาย โดยมีกำไรสำหรับปี 6,422 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 18 จากปีก่อน เป็นผลมาจากการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตอย่างต่อเนื่องและต้นทุนการผลิตที่ลดลง

ขณะที่ไตรมาสที่ 4 ปี 2563 ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างมีรายได้จากการขาย 40,284 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 11 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากเศรษฐกิจชะลอตัว ซึ่งเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ ปัญหาฝนตกและน้ำท่วมหนักในประเทศในช่วงเดือนตุลาคม ทำให้ไม่สามารถจัดส่งสินค้าได้ ประกอบกับประเทศเวียดนามและกัมพูชาเผชิญกับฝนตกหนักจากพายุฝนที่รุนแรง ซึ่งส่งผลกระทบต่อยอดขาย โดยมีขาดทุนสำหรับงวด 194 ล้านบาท สาเหตุหลักจากรับรู้ขาดทุนจากการด้อยค่าสินทรัพย์ในประเทศเมียนมาและอินโดนีเซีย เป็นจำนวน1,316 ล้านบาท และหากไม่รวมรายการขาดทุนจากการด้อยค่าสินทรัพย์ดังกล่าว จะมีกำไรสำหรับงวดเป็นจำนวนเงิน 
1,122 ล้านบาท

ธุรกิจแพคเกจจิ้ง ในปี 2563 มีรายได้จากการขาย 92,786 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 จากปีก่อน มีกำไรสำหรับปี 6,457 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 23 จากปีก่อน เนื่องจากการที่บริษัทมีลูกค้าอยู่ในหลากหลายอุตสาหกรรมโดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีความจำเป็นในชีวิตประจำวัน อาหารและเครื่องดื่มสินค้าเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพอนามัย 
การซื้อสินค้าผ่านระบบอีคอมเมิร์ซ รวมถึงปริมาณการขายสินค้าของบริษัทในกลุ่มดังกล่าวเติบโตขึ้นเช่นกัน จากกลยุทธ์
การมอบโซลูชันเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มีความสวยงามและมีนวัตกรรม 
และการสร้างประโยชน์จากการผนึกพลัง (Synergy) ในประเทศไทยและประเทศอินโดนีเซีย

สำหรับผลประกอบการไตรมาสที่ 4 ปี 2563 ธุรกิจแพคเกจจิ้งมีรายได้จากการขาย 23,596 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยมีกำไรสำหรับงวด 
1,486 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 11 จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 24 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

นายรุ่งโรจน์กล่าวว่า “ผลประกอบการของปี 2563 ยังแข็งแกร่งท่ามกลางสถานการณ์ที่ยากลำบาก เป็นผลมาจากความร่วมแรงร่วมใจของพนักงานเอสซีจีทุกคนที่ให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยและปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 อย่างเข้มงวด เพื่อช่วยให้ธุรกิจดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันก็ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์และรูปแบบการทำงานได้รวดเร็ว ทั้งการปรับแผนการดำเนินธุรกิจ ปรับสัดส่วนการขาย พัฒนาช่องทาง Active Omni-Channel ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ทำให้เอสซีจีสามารถส่งมอบนวัตกรรมสินค้า บริการ พร้อมโซลูชันต่าง ๆ 
ครบวงจร ตอบโจทย์ตลาดได้อย่างรวดเร็ว โดยพนักงานยังคงปฏิบัติงานตามแนวทาง Hybrid Workplace ที่ส่งเสริมให้สามารถปฏิบัติงานที่บ้าน และใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีติดต่อกับคู่ธุรกิจ และให้บริการแก่ลูกค้า ส่วนพนักงานที่อยู่ในสายการผลิต-ซ่อมบำรุง ก็ปฏิบัติตามมาตรการ “ไข่แดง ไข่ขาว” เพื่อไม่ให้สัมผัสกับกลุ่มพนักงานทั่วไป รวมถึงพนักงานที่ปฏิบัติงานในต่างประเทศก็ยังคงปฏิบัติงานเพื่อดูแลการผลิตให้ดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง ด้านพนักงานที่ต้องติดต่อกับลูกค้าได้ยกระดับมาตรฐานการให้บริการ เพื่อให้ลูกค้ามั่นใจในความปลอดภัย ผมเชื่อมั่นว่า ด้วยแนวปฏิบัตินี้และความมุ่งมั่นของพนักงานทุกคน จะทำให้เอสซีจีก้าวผ่านความไม่แน่นอนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ระลอกใหม่นี้ไปได้อีกครั้ง

ด้านธุรกิจเคมิคอลส์ ยังคงดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่องทั้งในไทยและต่างประเทศ จากการบริหารความต่อเนื่องของธุรกิจด้วยมาตรการที่เข้มแข็ง และการปรับสัดส่วนการขาย โดยเพิ่มการขายเม็ดพลาสติกสำหรับกลุ่มสินค้าที่จำเป็นต่อการอุปโภคบริโภคซึ่งยังคงมีความต้องการสูง เช่น บรรจุภัณฑ์อาหาร-เครื่องดื่ม และการขนส่งอีคอมเมิร์ซ เป็นต้น ตลอดจนเพิ่มการขายไปยังตลาดในประเทศที่ได้รับผลกระทบน้อยจากมาตรการปิดประเทศ โดยธุรกิจได้ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เช่น การพัฒนา Digital Commerce Platform เชื่อมต่อคำสั่งซื้อของลูกค้าเข้ากับการบริหารจัดการสินค้า เพิ่มความคล่องตัวและลดเวลาการทำงาน โดยลูกค้าสามารถติดตามสถานะคำสั่งซื้อได้ตลอดเวลา

นอกจากนี้ ธุรกิจยังขยายผล-ต่อยอดธุรกิจปลายน้ำและกลุ่มธุรกิจใหม่ เพื่อเพิ่มความแตกต่างด้านผลิตภัณฑ์ และความยืดหยุ่นให้กับธุรกิจ เช่น เร่งพัฒนาโซลูชันด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน ทั้งการผลิตเม็ดพลาสติกจากขยะชุมชน (Post-consumer Recycled Resin) และการก่อสร้างโรงงานสาธิตกระบวนการรีไซเคิลทางเคมี (Chemical Recycling) ตลอดจนพัฒนาองค์ความรู้และร่วมมือกับคู่ธุรกิจระดับโลก เพื่อขยายผลการทำ Digital Manufacturing ให้เป็นธุรกิจที่ให้บริการโซลูชันด้านอุตสาหกรรม (Industrial Solutions)

ในส่วนของโครงการปิโตรเคมีครบวงจร Long Son Petrochemicals Company Limited (LSP) ที่เวียดนามคืบหน้าตามแผนร้อยละ 66 และโครงการ MOC Debottleneck มีความคืบหน้าตามแผน โดยดำเนินโครงการไปแล้วกว่าร้อยละ 99 ซึ่งจะมีกำลังการผลิตโอเลฟินส์เพิ่มขึ้น 350,000 ตันต่อปี

ส่วนธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ยังคงดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากการปรับแผนการดำเนินธุรกิจและโมเดลธุรกิจให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญด้านสุขอนามัย และเน้นการซื้อสินค้าผ่านทางช่องทางออนไลน์มากขึ้น โดยเร่งลงทุนใน Active Omni-Channel ได้แก่ SCG HOME Online, NocNoc และ Q-Chang ขณะเดียวกันยังคงนำเสนอสินค้าและบริการพร้อมโซลูชันครบวงจร เพื่อมุ่งสู่การเป็นผู้นำตลาดวัสดุก่อสร้างในไทยและภูมิภาคอาเซียน โดยให้บริการครอบคลุมทั้งโซลูชันเพื่อการก่อสร้างและการอยู่อาศัย รวมถึงโซลูชันเพื่อช่วยป้องกัน
โควิด-19 เช่น Medical Solution by CPAC BIM ที่นำเทคโนโลยี Building Information Modeling มาช่วยวางแผน ออกแบบ และสร้างห้องแยกและควบคุมเชื้อสำหรับใช้ทางการแพทย์ ผสานเทคโนโลยีระบายอากาศความดันลบและความดันบวกมาใช้ ช่วยสร้างความมั่นใจในความปลอดภัย สร้างได้รวดเร็ว และควบคุมงบประมาณได้ โดยดำเนินการแล้วที่โรงพยาบาลสระบุรี และวชิรพยาบาล

นอกจากนี้ ธุรกิจได้นำเสนอนวัตกรรมสินค้าที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เน้นสุขอนามัย
เป็นพิเศษ เช่น สุขภัณฑ์และก๊อกน้ำอัตโนมัติ Smart Touchless ลดการสัมผัส นวัตกรรมกระเบื้องHygienic Tile จาก COTTO ที่ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียภายในบ้าน เช่นเดียวกับ สมาร์ทบอร์ด เอสซีจี รุ่นอัลตรา คลีน ที่ใช้เทคโนโลยีที่ช่วยให้ทำความสะอาดได้ง่าย เช็ดฆ่าเชื้อโรคได้ด้วยแอลกอฮอล์ได้บ่อยโดยที่ไม่เสื่อมสภาพ ทนเชื้อราและรังสี UV เหมาะสำหรับทำเป็นผนังในโรงพยาบาลเฮลธ์แคร์ เนอร์สซิ่งโฮม หรือคลินิกทันตกรรม ขณะที่ระบบหลังคาโซลาร์จาก
เอสซีจี ช่วยประหยัดค่าไฟให้กับเจ้าของบ้าน มียอดขายเติบโตขึ้นร้อยละ 182 เมื่อเทียบกับปีก่อน จากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ใช้เวลาอยู่บ้านมากขึ้น

ขณะที่ ธุรกิจแพคเกจจิ้ง ยังคงเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ จากการออกแบบโมเดลธุรกิจบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจร เพื่อสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่องในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงสร้างความร่วมมือกับผู้ประกอบการในต่างประเทศ เพื่อขยายธุรกิจ โดยมุ่งขยายฐานลูกค้าในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีศักยภาพเติบโตสูง ล่าสุดได้เข้าถือหุ้นใน Bien Hoa Packaging Joint Stock Company (SOVI) ช่วยเสริมความแข็งแกร่งกับธุรกิจบรรจุภัณฑ์ต้นน้ำในประเทศเวียดนาม และการเข้าถือหุ้นใน Go-Pak UK Limited (Go-Pak) ผู้นำในการให้บริการโซลูชันด้านบรรจุภัณฑ์อาหารในสหราชอาณาจักร ยุโรป และอเมริกาเหนือ ที่มีฐานการผลิตอยู่ทางตอนใต้ของเวียดนาม ช่วยเพิ่มศักยภาพการขยายตลาดบรรจุภัณฑ์อาหาร

นอกจากนี้ จากสถานการณ์โควิด-19 ธุรกิจได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อมาตรการการรักษาสุขอนามัยอย่างเข้มงวด เพื่อความปลอดภัยของสินค้า พนักงาน ตลอดจนลูกค้าและคู่ธุรกิจ

ธุรกิจยังพัฒนานวัตกรรมโซลูชันด้านบรรจุภัณฑ์ โดยได้เปิด SCGP-Inspired Solutions Studio เพื่อเพิ่มประสบการณ์ให้แก่ลูกค้าได้สัมผัสกับโซลูชันการออกแบบบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ  พร้อมกับพัฒนาบรรจุภัณฑ์ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน อาทิ R-1 ซึ่งเป็นนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์พอลิเมอร์แบบอ่อนตัว (Flexible Packaging) ผลิตจากฟิล์มประกบ
หลายชั้น ช่วยปกป้องสินค้าและทนทานแรงกระแทกได้ดี สามารถนำกลับมารีไซเคิลเป็นเม็ดพลาสติกและวัสดุอื่น ๆ ได้อย่าง
มีคุณภาพ โดยได้ร่วมกับกลุ่มบริษัท ดาว (ประเทศไทย) และข้าวตราฉัตร พัฒนานวัตกรรมถุงข้าวรักษ์โลกที่สามารถนำมา
รีไซเคิลได้ 100%

สำหรับการช่วยเหลือสังคมจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ระลอกใหม่ บริษัท สยามซานิทารีแวร์อินดัสทรี จำกัด ได้นำห้องน้ำสำเร็จรูป (Bathroom Mobile Unit) นวัตกรรมโซลูชันจากเอสซีจีซึ่งออกแบบและผลิตแบบเบ็ดเสร็จ
พร้อมใช้งานจากโรงงาน จำนวน 5 ห้อง ไปติดตั้งให้แก่ศูนย์ห่วงใยคนสาคร จังหวัดสมุทรสาคร โดยมูลนิธิเอสซีจีสนับสนุนเพิ่มอีกจำนวน 32 ห้อง เพื่ออำนวยความสะดวกและบรรเทาความเดือดร้อนในระยะเร่งด่วนให้บุคลากรทางการแพทย์ ชาวไทยและชาวเมียนมากว่า 1,600 คน นอกจากนี้ มูลนิธิเอสซีจีได้ช่วยกระจายนวัตกรรมป้องกันโควิด-19 ไปยังพื้นที่ที่ขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์และมีการแพร่ระบาดสูงเช่น ห้องแยกป้องกันเชื้อความดันบวก-ลบแบบเคลื่อนที่ สำหรับปฏิบัติการในห้องฉุกเฉินและห้องไอซียูเครื่อง Thermo Scan สำหรับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ฯลฯ รวมถึงทุนช่วยเหลือชาวเมียนมาผ่านจังหวัดสมุทรสาคร รวมมูลค่ากว่า 6,000,000 บาท

อนึ่ง คณะกรรมการบริษัท ได้มีมติให้เสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่ออนุมัติจ่ายเงินปันผลประจำปี 2563 ในอัตราหุ้นละ 14.0 บาท รวมเป็นเงินประมาณ 16,800 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 49 ของกำไรสำหรับปีตามงบการเงินรวม ทั้งนี้ บริษัทได้จ่ายเป็นเงินปันผลระหว่างกาลงวดครึ่งปีแรกไปแล้วในอัตราหุ้นละ 5.5 บาท เป็นเงิน 6,600 ล้านบาท เมื่อวันศุกร์ที่ 28 สิงหาคม 2563 และจะจ่ายเงินปันผลงวดสุดท้ายในอัตราหุ้นละ 8.5 บาท รวมเป็นเงินประมาณ 10,200 ล้านบาท

ทั้งนี้ การจ่ายเงินปันผลดังกล่าวให้จ่ายแก่ผู้ถือหุ้นเฉพาะผู้มีสิทธิได้รับเงินปันผลตามข้อบังคับของบริษัทตามที่ปรากฏรายชื่อ ณ วันกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิรับเงินปันผลในวันศุกร์ที่ 9 เมษายน 2564 (จะขึ้นเครื่องหมาย XD หรือวันที่ไม่มีสิทธิรับเงินปันผลในวันพฤหัสบดีที่ 8 เมษายน 2564 โดยมีกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันศุกร์ที่ 23 เมษายน 2564 และให้รับเงินปันผลภายใน 10 ปี”

ข่าวเกี่ยวข้อง