ผลการดำเนินงาน ธอส. ปี 65ปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ 2.86 แสนล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 26.70%  

ผลการดำเนินงาน ธอส. ปี 65ปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ 2.86 แสนล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 26.70%  

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานของธนาคาร ณ สิ้นปี 2565 ว่า ธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ 286,888 ล้านบาท 234,266 บัญชี เพิ่มขึ้นจากปี 2564 คิดเป็น 16.21% สูงกว่าเป้าหมายสินเชื่อใหม่ปี 2565 ซึ่งอยู่ที่ 226,423 ล้านบาท จำนวน60,465 ล้านบาท หรือคิดเป็น 26.70% โดยสินเชื่อที่ปล่อยใหม่ แบ่งเป็นสินเชื่อที่มีวงเงินกู้ไม่เกิน 2.5 ล้านบาท สำหรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและปานกลางจำนวน 120,415 ราย โดย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 เทียบกับ ณ สิ้นปี 2564 ธนาคารมียอดสินเชื่อคงค้างรวมทั้งสิ้น 1,589,699 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.98% คงความเป็นผู้นำของตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัย โดยมีส่วนแบ่งตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยคงค้างในระบบสถาบันการเงินที่ 33.48% (ข้อมูล ณ เดือนกันยายน 2565) มีสินทรัพย์รวม 1,659,445 ล้านบาท เพิ่มขึ้น10.16% เงินฝากรวม 1,416,497 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.11% มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) จำนวน 59,814 ล้านบาท คิดเป็น 3.74% ของยอดสินเชื่อรวม ลดลงจากสิ้นปี 2564 อยู่ที่ 4.00% สะท้อนประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ NPL ด้วยการจัดทำมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ประสบปัญหาผ่อนชำระในเชิงรุก อาทิ ให้ผ่อนชำระเงินงวดต่ำ ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้พิเศษ และแบ่งจ่ายเงินงวดผ่อนชำระ ซึ่ง ณวันที่ 3 มกราคม 2566 มีลูกค้าอยู่ระหว่างการรับความช่วยเหลือตามมาตรการจำนวนรวม 62,175 บัญชีเงินต้นคงเหลือ 61,728 ล้านบาท โดยปัจจุบันมีลูกค้าลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ขยายระยะเวลาความช่วยเหลือไปถึงเดือนมิถุนายน 2566 จำนวน 22,967 ราย ธนาคารได้มีการตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญที่129,018 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนต่อ NPL สูงถึง 215.70% เพื่อความมั่นคงและความพร้อมรองรับความเสี่ยงในอนาคตของกลุ่มลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 โดยมีกำไรสุทธิ 14,047 ล้านบาท และมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) ยังอยู่ที่ระดับแข็งแกร่งที่ 15.18% (ข้อมูล ณ เดือนพฤศจิกายน 2565) สูงกว่าอัตราเงินกองทุนขั้นต่ำที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนด

สำหรับปัจจัยหลักที่ทำให้ ธอส. ปล่อยสินเชื่อใหม่ได้เกินกว่าเป้าหมายในปี 2565 ได้ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนตุลาคม 2565 เกิดจากภาพรวมเศรษฐกิจไทยและรายได้ของประชาชนที่ฟื้นตัวจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ ของภาครัฐ การเร่งตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยของประชาชนโดยเฉพาะในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี ซึ่งถือเป็นช่วง High Season ของตลาดที่อยู่อาศัยก่อนมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนอง รวมถึงการผ่อนคลายเกณฑ์ LTV จะสิ้นสุดในปลายปี 2565 และการประกาศการตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้บ้านของ ธอส. ไว้ถึงสิ้นเดือนมกราคม 2566 แม้ตลอดปี 2565 คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาแล้ว 0.75% ต่อปี ทำให้ผลิตภัณฑ์สินเชื่อของ ธอส. ทุกประเภทได้รับความสนใจจากประชาชนที่ต้องการมีบ้าน

สำหรับในปี 2566 ธอส. ยังคงเดินหน้าสานต่อนโยบายรัฐบาล สร้างความมั่นคงในชีวิตให้กับประชาชนด้วยการทำให้คนไทยมีบ้านอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อใหม่ 233,216 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3% จากเป้าหมายในปี 2565 ที่อยู่ที่ 226,423 ล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งจะมาจากความร่วมมือกับสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ในการจัดทำ “โครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อผู้ประกันตน” ภายใต้กรอบวงเงินรวม30,000 ล้านบาท เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายให้ผู้ประกันตน ในระบบประกันสังคม มาตรา 33 สามารถใช้สิทธิในการไถ่ถอนจำนองที่อยู่อาศัย จากสถาบันการเงินอื่นมาที่ ธอส. รวมถึงเพื่อลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัยในบัญชีเงินกู้ที่กู้อยู่กับ ธอส. อัตราดอกเบี้ยคงที่ ปีที่ 1-5 ปี เท่ากับ 1.99% ต่อปี วงเงินให้กู้สูงสุดตามจำนวนเงินต้นคงเหลือไม่เกิน 2 ล้านบาท โดยหลังจากเปิดให้ผู้ประกันตนขอรับรหัสเข้าร่วมโครงการเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2565 ล่าสุด ณ วันที่ 17 มกราคม 2566 มีผู้ประกันตนขอรับรหัสเข้าร่วมโครงการผ่าน Application GHB ALL GEN มากกว่า 57,000 ราย และ ธอส. ได้อนุมัติสินเชื่อแล้วมากกว่า    2,300 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน ธอส. ยังประสบความสำเร็จในการพัฒนา GHB ALL GEN ซึ่งเป็น Mobile Banking Application ที่ให้บริการได้ครบทุกบริการ ในเดือนมกราคม 2566 ภายหลังจากเริ่มให้บริการลูกค้าตั้งแต่วันที่ 26 ตุลาคม 2565 โดยลูกค้าจะสามารถยื่นขอสินเชื่อ พูดคุยกับเจ้าหน้าที่สินเชื่อออนไลน์Digital Loan Officer (LO)ติดตามสถานะหลังจากยื่นกู้ ขอหนังสือรับรองดอกเบี้ยเงินกู้ และเปิดบัญชีเงินฝากประจำได้ด้วย พร้อมกันนี้ ยังมีการปรับปรุงกระบวนการให้บริการลูกค้า End to End Process หรือการให้บริการลูกค้าตั้งแต่ขั้นตอนแรกจนถึงขั้นตอนสุดท้ายผ่านระบบดิจิทัลทั้งหมด ซึ่งช่วยให้ลูกค้าได้รับความสะดวก รวดเร็ว และลดต้นทุนการดำเนินงานของธนาคารได้ไปพร้อมกัน ด้วย 3 Modules หลักประกอบด้วย 1. ด้าน Funding การระดมทุนผ่านหลายช่องทาง เงินฝากแบบอิเล็กทรอนิกส์ สลากออมทรัพย์ 2. ด้านสินเชื่อ ด้วย GHB ALL GEN  การนำ Data Analytic ทางด้านการประเมินราคาที่อยู่อาศัยมาพัฒนาระบบ Digital Appraisal ทำให้ลูกค้าทราบราคาประเมินบ้านเบื้องต้นได้ทันทีในขณะยื่นกู้กับเจ้าหน้าที่ การเซ็นสัญญาเงินกู้แบบอิเล็กทรอนิกส์แทนการลงนามรูปแบบกระดาษได้ด้วย e-Contract และ 3. การบริหารจัดการหนี้ด้อยคุณภาพ ด้วย Application : GHB ALL BFRIEND ช่วยให้ลูกค้าที่ประสบปัญหาในการผ่อนชำระสินเชื่อบ้านได้รับทางเลือกและเงื่อนไขการชำระหนี้ที่เหมาะสมกับปัญหา และApplication : GHB ALL HOME ให้บริการครบทุกความต้องการ เรื่องบ้านมือสอง ธอส.

ข่าวเกี่ยวข้อง