นายกฯ ชื่นชมข้อเสนอเปลี่ยนไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำมั่นใจพลังความร่วมมือพาไทยเติบโตแบบโลว์คาร์บอน
นายกฯ ชื่นชมข้อเสนอจากการระดมสมองภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม เร่งเปลี่ยนประเทศไทย สู่สังคมคาร์บอนต่ำ ชวนทุกภาคส่วนร่วมสร้างสระบุรีแซนด์บ็อกซ์ เมืองต้นแบบคาร์บอนต่ำแห่งแรกของไทย พร้อมหนุนขยายผลเศรษฐกิจหมุนเวียน และการเปลี่ยนสู่พลังงานสะอาด โดยจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังรองรับการขยายตัวเศรษฐกิจ ดึงดูดนักลงทุน เชื่อมั่นพลังความร่วมมือจะพาไทยเติบโตแบบคาร์บอนต่ำได้สำเร็จ
ในงาน ESG Symposium 2023
บ่ายวันนี้ (5 ต.ค. 66) นายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ได้ร่วมงาน ESG Symposium 2023 ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 11 ในหัวข้อ “ร่วม เร่ง เปลี่ยน สู่สังคมคาร์บอนต่ำ” ด้วยความร่วมมือจากหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และเอสซีจี ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ มีผู้ร่วมงานจากทุกภาคส่วนกว่า 2,000 คนโดยนายกรัฐมนตรีได้รับฟังข้อเสนอ “ร่วม เร่ง เปลี่ยนประเทศไทย สู่สังคมคาร์บอนต่ำ” ที่มาจากการระดมสมอง ทั้งภาครัฐ เอกชนและประชาสังคมกว่า 500 คน ตลอดเดือนกันยายนที่ผ่านมา ประกอบด้วย4 แนวทาง ได้แก่
1) ร่วมสร้าง “สระบุรีแซนด์บ็อกซ์” เมืองต้นแบบคาร์บอนต่ำแห่งแรกของไทย ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยอุตสาหกรรมสีเขียว เกษตรยั่งยืน ท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เนื่องจากสระบุรีเป็นจังหวัดที่มีความซับซ้อนและท้าทายมาก เพราะมีระบบเศรษฐกิจทั้งภาคอุตสาหกรรมหนัก การเกษตร การท่องเที่ยว และความเป็นเมืองที่ผสมผสาน
จึงสามารถเป็นตัวแทนเสมือนของประเทศไทยได้ เพื่อศึกษาเรียนรู้ปัจจัยความสำเร็จและข้อจำกัดต่าง ๆในการเปลี่ยนสู่เมืองคาร์บอนต่ำ ซึ่งร่วมบูรณาการโดยผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมจริง เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องโดยตรง และภาคประชาสังคมที่ได้รับผลกระทบ หากประสบความสำเร็จจะเป็นแรงจูงใจให้จังหวัดอื่น ๆได้ ปัจจุบันมีความร่วมมือเกิดขึ้นแล้ว อาทิ การกำหนดใช้ปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำในทุกงานก่อสร้างในจังหวัดสระบุรีตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป การทำนาเปียกสลับแห้ง ช่วยลดการใช้น้ำ การปลูกพืชพลังงานหญ้าเนเปียร์ และนำของเหลือจากการเกษตรไปแปรรูปเป็นพลังงานทดแทน สร้างรายได้ให้ชุมชน รวมทั้งร่วมปลูกป่าชุมชน 38 แห่งทั่วจังหวัด ช่วยดูดซับก๊าซเรือนกระจก และนำไปสู่การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ สร้างรายได้ให้ชุมชน
2) เร่งผลักดันเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เป็นวาระแห่งชาติ เพราะเป็นการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบ
คาร์บอนต่ำ ในประเทศไทยมี 3 อุตสาหกรรมที่ลงมือทำแล้ว คืออุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ ยานยนต์ และก่อสร้าง ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนเกิดขึ้นได้จริง คือ กำหนดนโยบาย กฎหมาย มาตรฐานการคัดแยกและจัดเก็บขยะเป็นระบบเดียวกันทั้งประเทศ กำหนดตัวชี้วัดในการติดตามผล ตลอดจนสร้างEco-system สนับสนุนสิทธิประโยชน์ในการลงทุนและพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียน รวมทั้งรณรงค์ใช้สินค้ากรีนที่ผลิตจากวัสดุรีไซเคิลหรือวัสดุชีวภาพ ออกกฎหมายระบุปริมาณอย่างชัดเจน โดยหน่วยงานภาครัฐนำร่องจัดซื้อจัดหาสินค้ากรีน เพื่อให้เกิดการยอมรับอย่างแพร่หลาย
3) เปลี่ยนสู่พลังงานสะอาดและยั่งยืน ปลดล็อกข้อจำกัด โดยเปิดเสรีซื้อ-ขายไฟฟ้าพลังงานสะอาดด้วยระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Grid Modernization) เพื่อให้ภาครัฐและเอกชนใช้เครือข่ายไฟฟ้าร่วมกันให้ทุกคนเข้าถึงพลังงานสะอาดสะดวกยิ่งขึ้น สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานสะอาดและใช้พื้นที่ว่างเปล่า
กักเก็บพลังงานในรูปแบบต่าง ๆ เช่น พลังงานน้ำ พลังงานความร้อน พลังงานกล พลังงานเคมี รวมทั้งพัฒนาพลังงานทดแทนใหม่ ๆ และผลักดันให้อยู่ในแผนพลังงานชาติ เช่น พลังงานไฮโดรเจน พืชพลังงาน ขยะจากชุมชน ของเสียจากโรงงาน ตลอดจนปรับปรุงนโยบายและให้สิทธิประโยชน์ที่เอื้อต่อการใช้พลังงานสะอาด และส่งเสริมการใช้ข้อมูล Big Data เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่ง
4) ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่ยังไม่สามารถปรับตัวได้ เช่น SMEs แรงงานเกษตรกร และชุมชน โดยแบ่งกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบและจัดสรรความช่วยเหลืออย่างเหมาะสม เพื่อให้ตระหนักรู้ เข้าถึงเทคโนโลยีลดคาร์บอนและแหล่งเงินทุนสิ่งแวดล้อมทั่วโลก ซึ่งมีอยู่มากถึง 52 ล้านล้านบาท และขอเสนอให้ไทยควรร่วมเร่งเข้าถึงกองทุนดังกล่าว เพื่อขับเคลื่อนสังคมคาร์บอนต่ำให้เกิดขึ้นจริงอย่างเป็นรูปธรรม เช่น กองทุนนวัตกรรมจัดการน้ำให้กลุ่มเกษตรกรรับมือสภาพภูมิอากาศแปรปรวนกองทุนฟื้นฟูและเพิ่มพื้นที่ป่าพร้อมสร้างรายได้จากคาร์บอนเครดิต นอกจากนี้ ยังควรพัฒนาทักษะแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านให้มีความพร้อมปรับตัวทันท่วงทีและพึ่งพาตัวเองได้
นายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน กล่าวชื่นชมข้อเสนอดังกล่าว และเชื่อมั่นว่า หากทุกภาคส่วนร่วมมือกันตาม
กลยุทธ์ ESG (Environmental, Social, and Governance) ที่เน้นสร้างเศรษฐกิจควบคู่กับสมดุลทางสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างโปร่งใส มุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน จะช่วยกู้โลกให้กลับมาดีขึ้น สำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนของไทยต้องมีแนวทางที่นำไปสู่การเปลี่ยนผ่านที่ชัดเจน โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ดังนี้ 1) มุ่งมั่นการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ผ่านหลักการไปให้ถึงและช่วยเหลือกลุ่มที่รั้งท้ายก่อน 2) ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมทางเพศ สำหรับประชากรทุกคนในประเทศ และให้ความสำคัญกับสิทธิด้านสุขภาพ 3) ผลักดันความร่วมมือทุกระดับ เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงส่งเสริมการเข้าถึงบริการพลังงานสมัยใหม่ ในราคาที่เหมาะสมและมีความน่าเชื่อถือภายในปี ค.ศ 2030
“ผมรู้สึกประทับใจมาก ที่ได้เห็นคนไทยทุกภาคส่วน ทั้งภาคเอกชน ภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม ร่วมกันหาแนวทางทำให้ประเทศไทยเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ เพราะภาวะโลกเดือดส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของทุกชีวิตบนโลก
ผมชื่นชมความตั้งใจสร้าง “สระบุรีแซนด์บ็อกซ์” เมืองต้นแบบคาร์บอนต่ำแห่งแรกของไทย เพราะเป็นจังหวัดที่มีความท้าทายสูง มีอุตสาหกรรมใหญ่อยู่มาก ซึ่งจะสำเร็จได้ต้องอาศัยการดำเนินงานร่วมมือกันหลายส่วน ทั้งมาตรการและเงินทุน
จึงขอเชิญชวนภาคส่วนอื่น ๆ มาร่วมกัน เพราะหากสำเร็จจะเป็นตัวอย่างให้เมืองและอุตสาหกรรมอื่น ๆต่อไป
การผลักดันเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เป็นวาระแห่งชาติ ผมชื่นชมความมุ่งมั่นทั้ง 3 อุตสาหกรรมนำร่อง ทั้งบรรจุภัณฑ์ ยานยนต์ และก่อสร้าง ซึ่งรัฐบาลจะขยายผลความสำเร็จนี้ โดยให้ความสำคัญกับการกำหนดนโยบายจัดการขยะและเปิดให้จัดหาสินค้ากรีนเพื่อสร้าง Eco-system ที่เอื้อต่อระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด รัฐบาลจะให้ความสำคัญกับการใช้พลังงานสะอาดให้เต็มประสิทธิภาพ และศึกษาการเปิดให้สามารถซื้อ-ขายไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดได้มากขึ้น เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงาน พร้อมทั้งรองรับการขยายตัวเศรษฐกิจไทย ดึงดูดนักลงทุนและบริษัทต่างชาติในอนาคต”
นายกรัฐมนตรี กล่าวทิ้งท้ายว่า “ผมขอขอบคุณทุกคนที่มุ่งเปลี่ยนสู่สังคมคาร์บอนต่ำ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพราะยังมีประชาชนอีกมากโดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็ก เกษตรกร และชุมชน ที่ยังไม่ตระหนักถึงวิกฤตินี้ หรือยังไม่พบทางออกเพื่อรับมือ เราควรสนับสนุนการเข้าถึงความรู้ เทคโนโลยี และการเข้าถึงเงินทุนให้ทุกคนสามารถปรับตัวอยู่รอดได้ สำหรับข้อเสนอในวันนี้ ผมจะมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป
นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า “คณะจัดงานขอบคุณท่านนายกรัฐมนตรีที่ให้เกียรติมาร่วมงาน และรับฟังข้อเสนอจากพวกเราทุกภาคส่วนในวันนี้ ผมเชื่อมั่นว่าภายใต้การบริหารงานของท่านที่มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง พร้อมทั้งแนวนโยบายที่ชัดเจนของประเทศ จะทำให้ทุกภาคส่วนทำงานร่วมกันอย่างแข็งแกร่ง เพื่อขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวหน้าอย่างมั่นคงและยั่งยืน”
นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า “เอสซีจีพร้อมนำแนวทางจากท่านนายกรัฐมนตรีไปผลักดันอย่างต่อเนื่อง ทั้งเร่งพัฒนากระบวนการผลิตสีเขียว ควบคู่กับนวัตกรรมกรีน เช่นปูนคาร์บอนต่ำ พลาสติกรักษ์โลก บรรจุภัณฑ์ย่อยสลายได้ อีกทั้งผสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วนแก้วิกฤติโลกเดือด ซึ่งเย็นวันนี้ 80 ซีอีโอ จากหลายอุตสาหกรรม เช่น ภาคพลังงาน การผลิตอสังหาริมทรัพย์ ยานยนต์ สุขภาพ บริการ มาร่วมระดมสมองเพิ่มเติม ซึ่งมั่นใจว่าจะสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยเติบโต พร้อมโลว์คาร์บอน เป็นจริงได้แน่นอน”