ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ประกาศกำไรสุทธิ ปี 2566 จำนวน 1,605.3 ล้านบาท   

ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ประกาศกำไรสุทธิ ปี 2566 จำนวน 1,605.3 ล้านบาท   

   พอล วอง ชี คินกรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย  เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของกลุ่มธนาคาร สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2566 มีรายได้จากการดำเนินงานจำนวน 13,771.6 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 170.9 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.3 เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันปี 2565 สาเหตุหลักเกิดจากการเพิ่มขึ้นของรายได้อื่นร้อยละ 10.5 และรายได้ดอกเบี้ยสุทธิร้อยละ 1.7  สุทธิกับการลดลงของรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิร้อยละ 17.9  กำไรจากการดำเนินงานก่อนหักผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นลดลงร้อยละ 10.6 เป็นจำนวน 5,138.3       ล้านบาท เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพิ่มขึ้น ร้อยละ 10.0      กำไรสุทธิจำนวน 1,605.3 ล้านบาท       ลดลงจำนวน 1,305.5 ล้านบาทหรือร้อยละ 44.9  เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันปี 2565 เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเติบโตสูงกว่าการเติบโตของรายได้จากการดำเนินงาน  ประกอบกับผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเพิ่มขึ้นร้อยละ 48.5  โดยเป็นการตั้งสำรองเพิ่มขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับหลักความระมัดระวังของธนาคารและเหมาะสมกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ 

รายได้จากการดำเนินงาน สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2566 เพิ่มขึ้นจำนวน 170.9 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.3 เป็นจำนวน 13,771.6 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันปี 2565 เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากการดำเนินงานอื่นจำนวน 267.9 ล้านบาท หรือร้อยละ 10.5 ส่วนใหญ่เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของกำไรสุทธิจากเงินลงทุนและกำไรสุทธิจากการขายสินเชื่อด้อยคุณภาพ สุทธิกับการลดลงของกำไรสุทธิจากเครื่องมือทางการเงินที่วัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุน รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 163.3 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.7 เป็นผลจากการขยายตัวของสินเชื่อและการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยจากเงินลงทุน  สุทธิกับการลดลงของรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิจำนวน 260.3 ล้านบาท หรือร้อยละ 17.9 ส่วนใหญ่เกิดจากการลดลงของค่าธรรมเนียมจากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ประกันภัยและรายได้ค่าธรรมเนียมการจัดจำหน่าย 

ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2566 เปรียบเทียบกับงวดเดียวกันปี 2565 เพิ่มขึ้นจำนวน 782.2 ล้านบาทหรือร้อยละ 10.0 สาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของค่าเผื่อการด้อยค่าของทรัพย์สินรอการขายและค่าภาษีอากร ทำให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ต่อรายได้จากการดำเนินงานสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2566 อยู่ที่ร้อยละ 62.7 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปี 2565 อยู่ที่ ร้อยละ 57.7   

อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Net Interest Margin – NIM) สำหรับปี 2566 อยู่ที่ร้อยละ 2.6 ลดลงจากงวดเดียวกันปี 2565 อยู่ที่ร้อยละ 2.7 เป็นผลจากต้นทุนการเงินที่เพิ่มขึ้น 

วันที่ 31 ธันวาคม 2566 เงินให้สินเชื่อสุทธิจากรายได้รอตัดบัญชี (รวมเงินให้สินเชื่อซึ่งค้ำประกันโดยธนาคารอื่นและเงินให้สินเชื่อแก่สถาบันการเงิน) ของกลุ่มธนาคารอยู่ที่ 245 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1 เมื่อเทียบกับเงินให้สินเชื่อ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565   กลุ่มธนาคารมีเงินฝาก (รวมตั๋วแลกเงิน หุ้นกู้ และผลิตภัณฑ์ทางการเงินบางประเภท) จำนวน 310.4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.1 จากสิ้นปี 2565 ซึ่งมีจำนวน 289.7 พันล้านบาท  อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก (the Modified Loan to Deposit Ratio) ของกลุ่มธนาคารลดลงเป็นร้อยละ 78.9 จากร้อยละ 81.2 ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 

สินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPLs) อยู่ที่ 8.2 พันล้านบาท อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ ต่อเงินให้สินเชื่อทั้งสิ้นอยู่ที่ร้อยละ 3.3 คงที่เมื่อเทียบกับ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565  เป็นผลจากการที่กลุ่มธนาคารมีนโยบายการจัดการความเสี่ยงด้านการให้สินเชื่อที่รัดกุม มาตรการบริหารจัดการความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงการปรับปรุงแนวทางในการเรียกเก็บหนี้จากสินเชื่อด้อยคุณภาพที่มีอยู่ และการแก้ปัญหาสินเชื่อด้อยคุณภาพอย่างต่อเนื่อง 

อัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 อยู่ที่ร้อยละ 124.2  เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2565 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 114.6  ค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นของกลุ่มธนาคารอยู่ที่จำนวน 9.6 พันล้านบาท ซึ่งเป็นเงินสำรองส่วนเกินตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทยจำนวน 1.5 พันล้านบาท 

เงินกองทุนรวมของกลุ่มธนาคาร ณ สิ้นวันที่ 31 ธันวาคม 2566 มีจำนวน 59.2 พันล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนรวมต่อสินทรัพย์เสี่ยงร้อยละ 22.0 โดยเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ร้อยละ 16.4 

 

ข่าวเกี่ยวข้อง