ธ.ก.ส. เดินหน้าแก้ไขปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนแล้วตรวจสุขภาพหนี้เกษตรกรพร้อมวางแนวทางช่วยเหลือฝ่าวิกฤต
ธ.ก.ส. เร่งช่วยเหลือเกษตรกรลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ เชื้อไวรัสโควิด-19 ราคาผลผลิตตกต่ำ ภัยธรรมชาติ โดยมอบนโยบายให้สาขาเข้าพบลูกค้าทุกรายเพื่อสอบถามข้อมูลการประกอบอาชีพและรายได้ พร้อมกำหนดแนวทางบริหารจัดการหนี้ให้เหมาะสมกับศักยภาพของลูกค้าแต่ละราย ควบคู่การเติมสินเชื่อใหม่ ในการฟื้นฟูอาชีพอย่างยั่งยืน
นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่าตามที่รัฐบาลได้กำหนดนโยบายให้ปี 2565 เป็นปีแห่งการแก้หนี้ภาคครัวเรือน ซึ่ง ธ.ก.ส. ในฐานะธนาคารของรัฐ พร้อมช่วยเหลือลูกค้าเงินกู้ ทั้งเกษตรกร บุคคล ผู้ประกอบการ และสถาบันเกษตรกร ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาผลผลิตการเกษตรได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติ ราคาผลผลิตตกต่ำ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 หรือมีรายได้ไม่สอดคล้องกับแผนการชำระหนี้เดิม เพื่อกำหนดกระบวนการการบริหารจัดการหนี้อย่างยั่งยืน เริ่มจากการมอบนโยบายให้พนักงานในพื้นที่ไปพบลูกค้าทุกราย โดยมีเป้าหมายเกษตรกรที่ใช้บริการสินเชื่อจาก ธ.ก.ส. จำนวน 4.83 ล้านราย เพื่อสอบถามข้อมูลการประกอบอาชีพ ที่มาของรายได้มาประเมิน โดยวิเคราะห์ศักยภาพสมรรถนะและความสามารถในการประกอบอาชีพ ความสามารถในการชำระหนี้ จากนั้นจัดกลุ่มลูกหนี้ตามเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนด โดยแบ่งลูกค้าเป็นกลุ่มตามศักยภาพ เช่น กลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพสูง กลุ่มศักยภาพปานกลาง กลุ่มมีเหตุผิดปกติ เป็นต้น เพื่อทำการบริหารจัดการหนี้ให้เหมาะสมกับลูกค้าแต่ละราย โดยใช้เครื่องมือต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น การปรับตารางกำหนดการชำระหนี้ใหม่ การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดยพิจารณาขยายระยะเวลาชำระหนี้และการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตามศักยภาพของลูกหนี้ การเติมสินเชื่อใหม่เพื่อฟื้นฟูอาชีพ รวมถึงพิจารณาช่วยเหลือลูกค้าที่มีหนี้สินเป็นภาระหนัก เนื่องจากรายได้ครัวเรือนลดลงหรือไม่ได้มีรายได้เพียงพอเพราะเหตุผิดปกติ เช่น เสียชีวิต เจ็บป่วย ทุพพลภาพ ชราภาพ เป็นต้น เพื่อพิจารณาแนวทางช่วยเหลือเป็นรายกรณีต่อไป
นอกจากบรรเทาความเดือดร้อนและลดความกังวลในเรื่องภาระหนี้สินแล้ว ธ.ก.ส. ยังเสริมสภาพคล่องในการลงทุนและการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ผ่านโครงการชำระดีมีคืน วงเงินงบประมาณ 1,200 ล้านบาทให้กับลูกค้าที่นำเงินมาชำระหนี้ โดยจะทำการคืนดอกเบี้ยเข้าบัญชีเงินฝากลูกค้าโดยตรง ร้อยละ 20 ของดอกเบี้ยที่ชำระจริง ไม่เกินรายละ 1,000 บาท ล่าสุดมีการคืนดอกเบี้ยไปแล้วกว่า 622 ล้านบาท มีเกษตรกรได้รับประโยชน์กว่า 850,000 ราย และโครงการนาทีทองลดดอกเบี้ยสู้โควิด โดยจะลดดอกเบี้ยที่ค้างชำระรวมถึงเบี้ยปรับสูงสุด ไม่เกินร้อยละ 50 ของดอกเบี้ยที่ชำระจริง ระยะเวลาตั้งแต่บัดนี้จนถึง 31 มีนาคม 2565 หรือจนกว่าจะเต็มวงเงินที่กำหนด โดยมีการช่วยเหลือไปแล้วกว่า 1,110 ล้านบาท
ทั้งนี้ ลูกค้ามีประสบปัญหาในการชำระหนี้หรือต้องการสอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับมาตรการการบริหารจัดการหนี้ได้ที่ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือที่ Call Center 02 555 0555