ทิพยประกันภัยชวนถอดรหัสความสำเร็จโครงการพัฒนาลุ่มน้ำครบวงจรแห่งแรกของไทยพลิกฟื้นปากพนัง สู่อู่ข้าวอู่น้ำเมืองคอน

ทิพยประกันภัยชวนถอดรหัสความสำเร็จโครงการพัฒนาลุ่มน้ำครบวงจรแห่งแรกของไทยพลิกฟื้นปากพนัง สู่อู่ข้าวอู่น้ำเมืองคอน

บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) จัดโครงการทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 45 นำคณะครูอาจารย์และผู้สนใจเยี่ยมชม "โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำ      ปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ"จังหวัดนครศรีธรรมราช พื้นที่ประวัติศาสตร์ที่เคยรุ่งเรืองในฐานะเมืองท่าสำคัญมาตั้งแต่อดีต

ย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ นครศรีธรรมราช เป็นหนึ่งในหัวเมืองใหญ่ และมีความสำคัญต่อความมั่นคงในการบริหารราชการแผ่นดิน ในอดีตสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเคยเสด็จมาประทับที่เมืองนครศรีธรรมราชเป็นระยะเวลานาน เพื่อปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ทำนุบำรุงเมือง และพระพุทธศาสนา ทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ปูชนียสถานสำคัญของภาคใต้ด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของพื้นที่แห่งนี้ในประวัติศาสตร์ชาติไทย

ในส่วนของพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง ก็เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่มีความสำคัญตั้งแต่โบราณ เป็นดินแดนที่มีความอุดมสมบูรณ์ และได้รับการขนานนามว่าเป็น "อู่ข้าวอู่น้ำ" ของภาคใต้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จพระราชดำเนินประพาสเมืองนครศรีธรรมราช จำนวน 4 ครั้ง ได้ทรงเปิดโรงสีไฟแห่งแรกในปี พ.ศ. 2448 และทรงมีพระราชหัตถเลขาบันทึกถึงความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่แห่งนี้ว่า "ไม่มีที่ไหนสู้" ในบรรดาเมืองท่าแหลมมลายูฝั่งตะวันออกทั้งหมด แสดงให้เห็นถึงความรุ่งเรื่องของลุ่มน้ำปากพนัง

อย่างไรก็ตาม ในช่วงปี พ.ศ. 2535 พื้นที่แห่งนี้ต้องเผชิญกับปัญหาเรื่องการจัดการน้ำที่ซับซ้อน 
ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการทำการเกษตร และคุณภาพชีวิตของราษฎร จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานแนวพระราชดำริในการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ เป็นที่มาของโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่มีการแก้ไขปัญหาที่ครอบคลุมทุกมิติ เริ่มจากการสร้างประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ เพื่อควบคุมการแพร่กระจายของน้ำเค็ม แก้ไขปัญหา 4 น้ำ 3 รส ประกอบด้วย น้ำท่วม น้ำแล้ง น้ำเค็ม และน้ำเปรี้ยว 3 รส ได้แก่ รสจืด รสเค็ม และรสเปรี้ยว พัฒนาระบบชลประทาน การจัดการที่ดินการฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ไปจนถึงการพัฒนาอาชีพให้แก่ราษฎร

ปัจจุบัน โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ นับเป็นโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำทั้งระบบแห่งแรกของประเทศไทย ที่สะท้อนให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถของในหลวงรัชกาลที่ 9 เรื่องการทรงวิเคราะห์ปัญหาแบบองค์รวม ทรงเข้าพระทัยถึงความเชื่อมโยงของระบบนิเวศ การใช้ที่ดิน และวิถีชีวิตของราษฎร จึงพระราชทานแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ครอบคลุมทุกมิติ

นางวิชชุดา ไตรธรรม ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) 
กล่าวว่า "โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังฯ เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการบูรณาการศาสตร์พระราชาในการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบและยั่งยืน การได้มาเรียนรู้จากโครงการแห่งนี้จะช่วยให้ผู้เข้าร่วมเข้าใจถึงความสำคัญของการพัฒนาที่คำนึงถึงความสมดุลของระบบนิเวศและการมีส่วนร่วมของชุมชน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืน"

ในการเยี่ยมชมครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมโครงการได้เรียนรู้ผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย เริ่มจากการเยี่ยมชมอาคารพิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติ รัชกาลที่ 9 ซึ่งจัดแสดงนิทรรศการและภาพยนตร์ที่บอกเล่าประวัติความเป็นมาของโครงการ จากนั้นได้สัมผัส "พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต" ผ่านการเยี่ยมชมแปลงทดสอบสาธิตด้านวิชาการ ที่จัดแสดงการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจท้องถิ่น อาทิ ส้มโอพันธุ์ทับทิมสยาม ฝรั่ง กล้วย และมะพร้าว

ผู้เข้าร่วมยังได้ชมแปลงทดสอบสาธิตด้านขยายผล ที่แสดงให้เห็นความสำเร็จในการเลี้ยงสัตว์พื้นถิ่นที่มีชื่อเสียง เช่น ไก่พันธุ์ศรีวิชัย (ไก่คอล่อน) และเป็ดเทศพันธุ์ร่อนพิบูลย์ พร้อมทั้งได้เรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นผ่านกิจกรรมการแปรรูปและทำขนมพื้นบ้าน โดยเฉพาะการทำ "ขนมลา" ขนมหวานที่มีความสำคัญในประเพณีบุญสารทเดือนสิบของชาวนครศรีธรรมราช และการทำน้ำตาลจากต้นจาก พืชเศรษฐกิจท้องถิ่นที่มีประโยชน์หลากหลาย ตั้งแต่การใช้ใบมุงหลังคา ทำยอดมวนยาสูบ ทำขนมหวานจากลูกจาก และผลิตน้ำตาลจากงวงจาก

นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมจิตอาสา และการกุศล ได้แก่ การปล่อยปลาเบญจพรรณ 4,999ตัว เพื่อเป็นการไถ่ชีวิตสัตว์เป็นมหาทานถวายเป็นพระราชกุศล และการมอบหนังสือในโครงการ "อมรินทร์อ่านพลิกชีวิต" พร้อมด้วยกิจกรรมมอบทุน และอุปกรณ์ทางการศึกษาจากมูลนิธิธรรมดี ให้แก่โรงเรียนโรงเรียนปากพนังจ.นครศรีธรรมราช ด้วย

ผู้เข้าร่วมโครงการยังได้เยี่ยมชมวัดเขาขุนพนม สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่มีอายุย้อนไปถึงสมัยก่อนพุทธศตวรรษที่ 10 ภายในวัดมีถ้ำขุนพนมหรือถ้ำพระเจ้าตาก ที่มีตำนานเล่าขานเกี่ยวกับพระเจ้าตากสินมหาราชที่เคยเสด็จมาบำเพ็ญเพียรภาวนา ณ ที่แห่งนี้

ทางโครงการฯ ยังได้จัดกิจกรรม Workshop และการบรรยายโดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ อาทิ      "9 ตามรอยนวัตกรรมของพ่อ ศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนระดับสากล" ที่ถอดบทเรียนนวัตกรรมศาสตร์พระราชาในประเด็น "ศาสตร์พระราชากับนวัตกรรมแบบก้าวกระโดด" พร้อมสอดแทรกคุณธรรม 5 ประการ คือ พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา และกตัญญู รวมถึงการบรรยาย "The King's Journey Learn English an Example of an Invention" โดยอาจารย์อดุลย์ ดาราธรรม ที่ปรึกษาและอดีตนายกสมาคมนักเรียนเก่า AFS ประเทศไทย "คุณธรรมในยุคดิจิทัล" โดย รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม และ "ถอดรหัสพระอัจฉริยะภาพในหลวงรัชกาลที่ 9" โดย ดร.ดนัย จันทร์เจ้าฉาย ประธานมูลนิธิธรรมดี

โครงการทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา จัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่าง บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) คุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ สมาคมนักเรียนเก่า AFS ประเทศไทย และมูลนิธิธรรมดี โดยได้รับการสนับสนุนหนังสือจากโครงการอมรินทร์อาสาอ่านพลิกชีวิต อมรินทร์กรุ๊ป

สำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมครั้งต่อไป สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารได้ที่ เฟสบุคแฟนเพจ : 
ตามรอยพระราชา-The King’s Journey หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ คุณจารุกัญญ์ โทรศัพท์ 099 397 5333  โดยผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกท่านจะได้รับประกาศนียบัตรจากทางโครงการฯ ซึ่งสามารถนำไปใช้เป็นหนึ่งในกิจกรรมการพัฒนาตนเองในการต่ออายุใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทางการศึกษาจากคุรุสภาได้ 

ข่าวเกี่ยวข้อง