การเคหะแห่งชาติส่งเสริมการกำกับดูแลกิจการที่ดี มุ่งแก้ปัญหาคอร์รัปชันจัดโครงการอบรมผู้ปฏิบัติงาน พร้อมขับเคลื่อนนโยบาย “No Gift Policy จากการปฏิบัติหน้าที่”
“การเคหะแห่งชาติ” มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาที่อยู่อาศัย ควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัย โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มครัวเรือนเปราะบาง มุ่งให้ความสำคัญในด้านคุณธรรมความโปร่งใส ปราศจากการทุจริตในการปฏิบัติงาน โดยดำเนินงานสอดคล้องกับแผนปฏิบัติการด้านการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566 - 2570) ของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พร้อมขับเคลื่อน “นโยบาย No Gift Policy” ตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และประพฤติมิชอบ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางในการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (ITA) ส่งเสริมให้เกิดการขับเคลื่อนธรรมาภิบาลในการปฏิบัติงานของหน่วยงานภาครัฐ
นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาคอร์รัปชันมีหลากหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นการให้ หรือการรับสินบน การยอมรับของขวัญ การไม่กระทำตามหน้าที่แบบตรงไปตรงมาการใช้อำนาจหน้าที่ในทางที่ผิด และการมีผลประโยชน์ทับซ้อน ฯลฯ ตลอดเวลาที่ผ่านมา การเคหะแห่งชาติได้กำหนดแนวทางในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต โดยส่งเสริมการกำกับดูแลกิจการที่ดีและส่งเสริมความรู้ความเข้าใจให้ผู้ปฏิบัติงานการเคหะแห่งชาติดำเนินงานด้วยความโปร่งใส เป็นธรรม และตรวจสอบได้ พร้อมยึดมั่นในความรับผิดชอบต่อสังคม ประชาชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
หนึ่งในรูปธรรมที่ชัดเจนคือ การปลุกจิตสำนึกหรือสร้างวัฒนธรรมให้ผู้ปฏิบัติงานปฏิเสธการรับของขวัญและของกำนัลทุกชนิดจากการปฏิบัติหน้าที่ ตลอดจนส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้ปฏิบัติงานการเคหะแห่งชาติทุกระดับ มีการประพฤติปฏิบัติตามระเบียบวินัย ยึดมั่นในคุณธรรม และจริยธรรม การเคหะแห่งชาติจึงได้จัดโครงการอบรมหลักสูตร ขับเคลื่อนนโยบาย “No Gift Policy จากการปฏิบัติหน้าที่” ให้แก่ผู้ปฏิบัติงานการเคหะแห่งชาติภายในสำนักงานใหญ่ รวมถึงผู้แทนจากสำนักงานเคหะนครหลวง และสำนักงานเคหะจังหวัด รวมทั้งสิ้น 75 แห่ง โดยเชิญวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) มาบรรยายให้ความรู้ ณ สำนักงานใหญ่ การเคหะแห่งชาติคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา เพื่อเป็นแนวทางในการป้องกันการเกิดผลประโยชน์ทับซ้อนและการต่อต้านการทุจริตประพฤติมิชอบในการปฏิบัติหน้าที่ รวมทั้งส่งเสริมสนับสนุนและกระตุ้น สร้างแรงจูงใจให้ผู้ปฏิบัติงานในองค์กร ให้ความสำคัญกับการเป็นแบบอย่างที่ดีและปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้
“การอบรมในครั้งนี้ มุ่งให้ผู้ปฏิบัติงานได้รับรู้ เข้าใจ และตระหนักถึงความสำคัญในการปฏิบัติงานตามนโยบาย “No Gift Policy” ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาตนเองจนนำไปสู่การเป็นบุคคลต้นแบบ
ด้านคุณธรรม จริยธรรม ที่มีความซื่อสัตย์ สุจริต ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานขององค์กรด้านธรรมาภิบาล จนสามารถนำไปสู่การพัฒนาองค์กรได้อย่างยั่งยืน” นายทวีพงษ์กล่าว
นางสาวปิยนุช จันทน์สุคนธ์ นักวิชาการยุติธรรมชำนาญการ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการกลุ่มงานวิชาการและพัฒนานวัตกรรมด้านการป้องกัน กองป้องกันการทุจริตในภาครัฐ กล่าวว่า สำนักงาน ป.ป.ท. มีการดำเนินการงานการป้องกันการทุจริตผ่าน 3 กลุ่มงานของกองป้องกันการทุจริตในภาครัฐ ประกอบด้วย กลุ่มที่ 1 กลุ่มงานส่งเสริมธรรมาภิบาลในภาครัฐ โดยศูนย์ปฏิบัติการส่งเสริมธรรมาภิบาลต่อต้านการทุจริต ดำเนินการด้านต่าง ๆ จำนวน 3 ด้าน ได้แก่ 1. เป็นคลินิกส่งเสริมธรรมาภิบาลต่อต้านการทุจริตให้คำปรึกษา คำแนะนำ รวมถึงรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนที่เข้ามาติดต่อทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคทั้ง 9 เขตทั่วประเทศไทย 2. จัดอบรมหลักสูตรส่งเสริมธรรมาภิบาลต่อต้านการทุจริตสำหรับหน่วยงานภาครัฐ และหลักสูตรบรรษัทภิบาลต่อต้านการทุจริตสำหรับกลุ่มหน่วยงานภาคเอกชน และ 3. ตรวจสอบเฝ้าระวังเชิงรุกตามที่ได้รับเรื่องร้องเรียนตามมาตรา 58/2 และ 58/3 ของ พ.ร.บ. มาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ
ส่วนกลุ่มที่ 2 กลุ่มงานเครือข่ายภาคประชาสังคม ส่งเสริมการรวมตัวกันของภาคประชาสังคมตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 63 โดยเน้นสร้างเครือข่ายภาคประชาชนในการเฝ้าระวังการทุจริต และแจ้งเรื่องมาที่สำนักงาน ป.ป.ท. สุดท้ายกลุ่มที่ 3 กลุ่มงานเสริมสร้างองค์ความรู้ให้กับทุกภาคส่วนในสังคมไทย เพื่อเป็นการติดอาวุธทางปัญญาให้กับทุกคน ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการป้องกันการทุจริตให้กับสังคมไทย