การเคหะแห่งชาติสานต่อโครงการดึงเยาวชนในชุมชนเข้าสู่ระบบการศึกษา หวังสร้างงาน สร้างอาชีพ จบแล้วมีงานทำทันที
นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามนโยบายของ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้ความสำคัญถึงการพัฒนาที่อยู่อาศัยและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยในชุมชนของการเคหะแห่งชาติ ทั้งในมิติสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม การเคหะแห่งชาติตระหนักในความสำคัญถึงคุณภาพชีวิตของประชาชนดังกล่าว จึงได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการศึกษาเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนในชุมชนของการเคหะแห่งชาติกับบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CP ALL และวิทยาลัยเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ (PAT) ในด้านการศึกษาเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนในชุมชนของการเคหะแห่งชาติให้มีโอกาสได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมทั่วถึง มีอาชีพ มีงานทำ มีรายได้ สามารถเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้ โดยวิทยาลัยเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์จะจัดการเรียนการสอนระบบทวิภาคี เรียนทั้งภาคทฤษฎีสลับกับภาคปฏิบัติ สนับสนุนองค์ความรู้ในการสร้างคน สร้างอาชีพ ฝึกให้เป็นนักธุรกิจยุคใหม่ ตลอดหลักสูตรเรียนฟรี และมีรายได้ระหว่างเรียน การันตีจบแล้วมีงานทำทันที เพื่อให้เยาวชนเป็นพลเมืองดี และเป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติต่อไป
การเคหะแห่งชาติสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมกับผู้นำชุมชนของการเคหะแห่งชาติ โดยการจัดสัมมนาในวันที่ 4 ตุลาคม 2567 หัวข้อ “Vocational Premium High Performance” ณ ห้องประชุมปัญญางาม ชั้น 5 วิทยาลัยเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ เพื่อให้ผู้นำชุมชนมีความเข้าใจในการจัดการด้านการศึกษาและพัฒนาการศึกษาระดับคุณภาพขั้นสูง ซึ่งผู้นำชุมชนจะสามารถไปถ่ายทอดยังกลุ่มเป้าหมายได้ และนำเสนอประโยชน์ต่าง ๆ ที่นักศึกษาควรจะได้รับในระหว่างที่ศึกษาที่วิทยาลัยศูนย์การเรียนรู้ปัญญาภิวัฒน์ รวมถึงเครือข่ายศูนย์การเรียนปัญญาภิวัฒน์ 20 แห่ง ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค และสถานศึกษาในความร่วมมือในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ อาทิ ศูนย์การเรียนรู้ฯ เพชรเกษม (เพชรเกษม 54), รังสิต (พหลโยธิน 72), สำโรง (ซอยสำโรงใต้ 7), พระราม 2 (พระราม 2 ซอย 42), ลำปาง, พระนครศรีอยุธยา, ชลบุรี, นครราชสีมา, ขอนแก่น, เพชรบุรี และหาดใหญ่ เป็นต้น
นายทวีพงษ์ กล่าวว่า เยาวชนในชุมชนของการเคหะแห่งชาติจะได้ศึกษาต่อในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) สาขาวิชาในสาขาวิชาธุรกิจค้าปลีก, สาขาวิชาไฟฟ้ากำลัง, สาขาวิชาแมคคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์ และสาขาวิชาเทคนิควิทยาการนาฬิกา รวมถึงการสนับสนุนกิจกรรมการฝึกวิชาชีพ ซึ่งการให้ความรู้ทางวิชาการร่วมกัน มีจุดประสงค์เพื่อให้นักเรียนได้รับความรู้ ทักษะและประสบการณ์ด้วยการปฎิบัติงานจริง เพื่อสร้างอาชีพ มีรายได้มั่นคง สามารถประกอบอาชีพได้ โดยในปีการศึกษา 2567 มีเยาวชนที่อาศัยอยู่ภายในโครงการที่อยู่อาศัยของการเคหะแห่งชาติเข้าศึกษาในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) รวมจำนวน 9 คน ซึ่งหลังจากนี้การเคหะแห่งชาติจะลงพื้นที่เพื่อประชาสัมพันธ์เชิงลึก มุ่งสร้างความเข้าใจให้กับผู้อาศัยในชุมชน เพื่อให้เด็กและเยาวชนในชุมชนของการเคหะแห่งชาติได้มีโอกาสทางการศึกษา พัฒนาความรู้ ความสามารถ และเพิ่มศักยภาพในการทำธุรกิจ ทำให้ลูกหลานของชาวชุมชนการเคหะแห่งชาติทั่วประเทศไม่ต้องเดินทางออกจากบ้านเพื่อไปศึกษาในระยะทางไกล สามารถอยู่ในภูมิลำเนาของตนเอง สร้างสังคม สร้างเศรษฐกิจ ที่มีความเข้มแข็งมากขึ้นได้อีกด้วย
“การเรียนการสอนระบบการศึกษาทวิภาค มีข้อดีคือเยาวชนจะได้ทำงานจริงที่ร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ได้เรียนรู้งานขั้นพื้นฐานของร้านค้าปลีก เริ่มตั้งแต่การทำความสะอาดพื้นที่ขายและตัวสินค้า การจัดเรียงสินค้า พนักงานขาย แคชเชียร์ ทำบัญชีการเงิน สั่งสินค้า ตลอดจนส่งเสริมการขายอย่างครบวงจร จนสำเร็จการศึกษา โดยจะทำให้เยาวชนที่ได้มีการศึกษา มีทำงานได้ทันที” นายทวีพงษ์ กล่าวทิ้งท้าย