กสิกรไทยหนุนผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทย ฝ่าวิกฤติโควิด-19
“ขัตติยา” คาดว่า 2 เดือน ไทยสูญรายได้ท่องเที่ยวแล้ว 5.5 หมื่นล้าน ชี้ฟื้นตัว 3 เฟส ไทยเที่ยวไทย ระดับภูมิภาค และระดับโลก คาดจะกลับมามีรายได้ 2.7 ล้านล้านบาทใกล้ระดับก่อนโควิด-19 ในปี 2567 แนะผู้ประกอบการแก้โจทย์ระยะใกล้-ไกล พัฒนาสู่ท่องเที่ยวที่ยั่งยืน พร้อมสร้างธุรกิจ “ฮีโร่” ในหลายอุตสาหกรรม ควบคู่กับการพัฒนาธุรกิจท่องเที่ยวให้แข็งแกร่ง
นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ในช่วงกว่าทศวรรษที่ผ่านมา (2551-2563) เศรษฐกิจไทยเติบโตต่ำกว่าภูมิภาคอาเซียน โดยรายได้จากธุรกิจการท่องเที่ยวเป็น“ฮีโร่” ที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจประเทศไทยมาโดยตลอด ในปี 2562 ธุรกิจท่องเที่ยวสร้างรายได้ให้กับประเทศ 3 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนถึง 18% ของจีดีพีประเทศ ในจำนวนนี้เป็นรายได้ที่มาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 2 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 12% ของจีดีพี และรายได้จากนักท่องเที่ยวไทย 1 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 6% ของจีดีพี
วิกฤตโควิด-19 ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ธันวาคม 2562 เป็นต้นมา ทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวทั่วโลกทรุดตัวต่ำสุดในรอบ 33 ปี ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวทั้งระบบตั้งแต่ โรงแรมที่พัก ร้านอาหาร ร้านขายของฝาก ธุรกิจรถเช่า ที่อยู่ในจังหวัดท่องเที่ยว โดยในปี 2563 รายได้ธุรกิจท่องเที่ยวของไทยหายไปจากระบบเป็นมูลค่ากว่า 2.1 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 13% ของจีดีพี และเมื่อโควิด-19 ระลอกใหม่มา ทำให้การฟื้นตัวของธุรกิจช้ากว่าเดิม โดยในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2564 ธุรกิจท่องเที่ยวของไทยสูญเสียรายได้ไปแล้วคิดเป็นมูลค่ากว่า 5.5 หมื่นล้านบาท
ธุรกิจการท่องเที่ยวของไทย ได้รับผลกระทบจาก โควิด-19 มากกว่าธุรกิจอื่น จึงฟื้นตัวช้ากว่าธุรกิจอื่นคาดว่าอาจจะต้องใช้เวลากว่า 3 ปี หรือประมาณปี 2567 ในการจะฟื้นตัวกลับมามีรายได้ที่ประมาณ 2.7 ล้านล้านบาท ใกล้เคียงกับที่เคยทำได้ในปี 2562 ที่ 3 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นระดับก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับนโยบายการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทย นโยบายการให้ออกมาเที่ยวนอกประเทศของแต่ละประเทศ และความคืบหน้าของการฉีดวัคซีน
ภาพการฟื้นฟูของภาคการท่องเที่ยวจะแบ่งเป็น 3 เฟส เฟสที่ 1) ตลาดไทยเที่ยวไทย จะเป็นตลาดหลัก ในช่วงปี 2564-2565 ช่วยให้สถานการณ์ปรับตัวดีขึ้นกว่าปี 2563 เฟสที่ 2) การเดินทางในระดับภูมิภาค ที่ใช้เวลาเดินทางสั้น 3-5 ชั่วโมง โดยจะเป็นการเดินทางเพื่อธุรกิจป็นหลัก เฟสที่ 3) การเดินทางในระดับโลกจะมาเป็นลำดับสุดท้าย ซึ่งจะเป็นนักท่องเที่ยวจริง ๆ ส่วนการเดินทางเพื่อธุรกิจในกลุ่มนี้ อาจจะลดลงเยอะมากเนื่องจากช่วงที่ผ่านมามีการติดต่อกันแบบ Virtual ได้ ซึ่งลดค่าใช้จ่ายและเวลาในการเดินทาง
ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่จะเป็นตัวช่วยให้การท่องเที่ยวฟื้น คือ วัคซีนพาสปอร์ท (Vaccine Passport) แต่อาจจะต้องใช้เวลา ขึ้นอยู่กับการฉีดวัคซีนของคนทั่วโลก การยอมรับในประสิทธิผลของวัคซีน และกระบวนการของประเทศไทยในรองรับการเข้ามาของนักท่องเที่ยว
จากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้ภาคการท่องเที่ยว ที่เคยเป็น “ฮีโร่” ของเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญศึกหนัก“โจทย์ระยะใกล้” คือ จะทำอย่างไรให้ธุรกิจยังรอด การจ้างงานยังพอไปได้ ซึ่งผู้ประกอบการสามารถประเมินตนเองได้ด้วยแนวทางเบื้องต้น ดังนี้ “รายได้” ควรลดลงไม่เกิน 70% และมีแหล่งรายได้ที่หลากหลาย สร้างรายได้จากช่องทางอื่นได้ “รายจ่าย” บริหารค่าใช้จ่ายให้สอดคล้องกับรายได้ โดยมีค่าใช้จ่ายต่อเดือนน้อยกว่า 65% ของรายได้ “สภาพคล่อง” มีเงินทุนหมุนเวียนขั้นต่ำ 6 เดือน และ “คืนทุนแล้ว”โดยเป็นกิจการที่ดำเนินธุรกิจมาจนคืนทุน หรือมีภาระดอกเบี้ยจ่ายต่ำ ทั้งนี้ หากประเมินแล้วธุรกิจเป็นไปตามแนวทางนี้ก็มีโอกาสที่จะรอด และในระหว่างที่รอนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศฟื้นตัว คำแนะนำสำหรับผู้ประกอบการภาคการท่องเที่ยวของไทยในการพากิจการผ่านช่วงเวลานี้ไปให้ได้ คือ “เจาะตลาดไทยเที่ยวไทย” ด้วยการสร้างประสบการณ์ที่สอดรับกับพฤติกรรมคนไทย สร้างรายได้ทางอื่นด้วยวิธีที่แตกต่าง และบริหารจัดการต้นทุน โดยไม่แข่งขันด้านราคา
นอกจากนี้ภาคธุรกิจท่องเที่ยวไทยยังมี “โจทย์ระยะไกล” คือ สร้างธุรกิจการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน(Sustainable Tourism) แก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างและทรัพยากรต่าง ๆ ที่กระทบขีดความสามารถทางการแข่งขัน กระจายรายได้สู่ชุมชน ธรรมชาติและมรดกทางวัฒนธรรมไม่ถูกทำลาย นับเป็นโจทย์ที่ต้องปรับตัวทั้งในนโยบายระดับประเทศ และภาคธุรกิจต้องร่วมมือกัน ในการสร้างความสมดุล ระหว่างเศรษฐกิจสังคม และสิ่งแวดล้อม
ที่สำคัญคือ ต้องดำเนินธุรกิจการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน (Sustainable Tourism) ประกอบด้วย 3 องค์ประกอบคือ
1. การท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ (New Travel Culture) ปรับตัวจากการแข่งขันด้านราคา (Red Ocean) และเน้นนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ยกระดับไปสู่การท่องเที่ยวคุณภาพ (Blue Ocean) เช่น การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) การท่องเที่ยวด้านการแพทย์ (Medical Tourism) เพื่อเพิ่มค่าใช้จ่ายต่อหัวให้สูงขึ้น และพัฒนาสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน คือการอนุรักษ์ธรรมชาติสิ่งแวดล้อม (Green Ocean) และตอบโจทย์สังคม (White Ocean)
2. การสร้างความร่วมมือ (Collaboration) โดยภาครัฐ เอกชน และชุมชนในการจัดการธุรกิจท่องเที่ยวสร้างความเข้าใจให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างมีคุณภาพ ใช้วัฒนธรรมท้องถิ่นสร้างเอกลักษณ์การท่องเที่ยวเฉพาะพื้นที่ และให้ความสำคัญในการดูแลและรักษาทรัพยากรธรรมชาติ
3. การใช้เทคโนโลยีและข้อมูล (Digitalization) มาเป็นเครื่องมือเพื่อการท่องเที่ยวเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยการสร้างแพลตฟอร์มและนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ให้เกิดประโยชน์ในการวางแผนธุรกิจ การทำตลาดที่ทันสถานการณ์ แชร์ข้อมูลแก่ผู้เกี่ยวข้อง อำนวยความสะดวกในการวางแผนการเดินทาง สร้างสังคมออนไลน์ เปิดประสบการณ์ใหม่ในการวางแผนเดินทางท่องเที่ยวและการทำธุรกิจ
ด้วยรูปแบบธุรกิจการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนข้างต้นจะเป็นแนวทางหนึ่งที่จะนำภาคธุรกิจการท่องเที่ยวไทยไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ ให้นักท่องเที่ยวอยู่พักนานขึ้น มีการใช้จ่ายเพื่อท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น กระจายรายได้ท่องเที่ยวสู่เมืองรอง เพิ่มความสะดวกสบายและส่งมอบคุณค่าให้นักท่องเที่ยวได้มากขึ้น เพื่อนำไปสู่การกลับมาเที่ยวซ้ำอีก
นางสาวขัตติยา กล่าวตอนท้ายว่า ประเทศไทยที่ผ่านมามีภาคการท่องเที่ยวเป็น “ฮีโร่” ที่เข้ามาช่วยพยุงเศรษฐกิจไว้ แต่ต่อจากนี้ไปเศรษฐกิจของประเทศอาจจะไม่สามารถพึ่งพารายได้จากอุตสาหกรรมเดียวอีกต่อไป แต่จะต้องมี “ฮีโร่” หลาย ๆ ธุรกิจมาเป็นทีม นั่นคือการส่งเสริมธุรกิจในอุตสาหกรรมอื่นที่มีศักยภาพ เช่น ธุรกิจด้านสุขภาพ อาหารสุขภาพ รถยนต์พลังงานไฟฟ้า ฯลฯ ควบคู่ไปกับการพัฒนาการท่องเที่ยวในระยะยาวให้แข็งแกร่งขึ้น
สรุปเนื้อหาจากการบรรยาย “เดินหน้าท่องเที่ยวไทย พ้นวิกฤติโควิด-19” ในงาน Thailand Tomorrow 2021 จัดโดย Workpoint Today วันเสาร์ที่ 27 มีนาคม 2564