กลุ่มทิสโก้ เดินหน้าฝ่าความท้าทาย ปี 2567 ชูกลยุทธ์ “Sustainable Focus” เติบโตอย่างรับผิดชอบและยั่งยืน
กลุ่มทิสโก้ ชูยุทธศาสตร์ Sustainable Focus ขับเคลื่อนองค์กรสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน ท่ามกลางความท้าทายรอบด้าน โดยนำความเชี่ยวชาญในทุกแขนงสร้างประสบการณ์ที่ดีแก่ลูกค้าในทุกกลุ่ม ครอบคลุมครบทุกมิติทั้งกองทุน - หุ้น - ประกัน - เงินฝาก - สินเชื่อ รวมถึงการบริหารจัดการหนี้ ในธุรกิจสินเชื่อมุ่งการเติบโตอย่างมีคุณภาพและดูแลลูกค้าอย่างรับผิดชอบ ควบคู่กับการบริหารความเสี่ยงที่รัดกุม ขณะที่ธุรกิจให้คำปรึกษาการเงิน - การลงทุน เดินหน้ารุกกลุ่ม Mass Affluent หวังช่วยลูกค้าบรรลุเป้าหมายทางการเงินและรับมือสังคมสูงอายุได้เร็วขึ้น ด้านผลประกอบการปี 2566 มีกำไรสุทธิ 7,303 ล้านบาท ขยายตัว 1.1% จากปีที่แล้ว จากการเติบโตของธุรกิจสินเชื่อ และรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่เพิ่มขึ้น
นายศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้ (Mr. Sakchai Peechapat, Group Chief Executive, TISCO Financial Group Public Company Limited) เปิดเผยว่า ในปี 2567 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวในทิศทางที่ดีขึ้นที่ระดับ 3-4% โดยมีแรงขับเคลื่อนจากการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง การส่งออกสินค้าที่คาดว่าจะกลับมาขยายตัว รวมถึงการลงทุนภาครัฐและเอกชนที่เร่งตัวขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้เศรษฐกิจไทยจะมีสัญญาณที่ดีแต่ยังต้องเผชิญกับความท้าทายรอบด้านจากปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ อาทิ ปัญหาภัยแล้ง ความเปราะบางของภาวะหนี้ครัวเรือนไทย อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับสูง ตลอดจนความอ่อนแอของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะสหรัฐฯ จีน และยุโรป เป็นต้น
ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ในปี 2567 กลุ่มทิสโก้ จึงมุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานของความยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับการเติบโตอย่างมีคุณภาพ ด้วยการนำความเชี่ยวชาญในทุกแขนงของทั้งกลุ่มธุรกิจมาพัฒนาต่อยอด เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีและเติมเต็มโอกาสทางการเงินอันจะนำมาสู่ความมั่งคั่งอย่างมั่นคงให้แก่ลูกค้า
ในกลุ่มธุรกิจสินเชื่อ คาดว่าจะสร้างการเติบโตในระดับเดียวกันกับเศรษฐกิจไทย โดยมุ่งเน้นการปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) ควบคู่กับการบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างรัดกุมและดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิด โดยสินเชื่อรายย่อยจะพิจารณาตามความเหมาะสมกับความสามารถในการชำระหนี้และภาระหนี้ของลูกค้า (Debt Service Ratio) ซึ่งในปีนี้ยังคงเน้นการเติบโตในกลุ่มสินเชื่อที่มีหลักประกันที่ทิสโก้มีความเชี่ยวชาญ ได้แก่ สินเชื่อจำนำทะเบียน ในธุรกิจสมหวัง เงินสั่งได้ และรักษาตำแหน่งทางการตลาดในธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อ โดยเน้นกลุ่มสินเชื่อรถมือสอง สินเชื่อเพื่อการพาณิชย์ และสนับสนุนสินเชื่อรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ควบคู่กับการควบคุมคุณภาพสินเชื่อให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม นอกจากนี้ ยังเห็นโอกาสการเติบโตในสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ โรงไฟฟ้า และพลังงานทางเลือก ซึ่งทิสโก้จะใช้จุดแข็งของการบริการแบบ Total Solution มาตอบโจทย์ทุกความต้องการของลูกค้า
ในส่วนของธุรกิจธนบดีธนกิจและตลาดทุน เน้นให้บริการการให้คำแนะนำอย่างผู้เชี่ยวชาญแบบองค์รวม (“Holistic Financial Advisory”) โดยครอบคลุมด้านการวางแผนการเงิน การลงทุน ความคุ้มครองด้านชีวิตและสุขภาพ ตลอดจนการวางแผนเพื่อคุณภาพชีวิตหลังการเกษียณ พร้อมยกระดับความสามารถการให้บริการในช่องทางดิจิทัลที่จะช่วยเพิ่มความสะดวกให้กับลูกค้า ขณะเดียวกันจะขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่ม Mass Affluent ที่มีเงินฝากและ/หรือเงินลงทุนตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไป
ด้านธุรกิจนายหน้าประกันภัย จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์การวางแผนบริหารความเสี่ยงของลูกค้าแต่ละกลุ่ม ผ่านความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุดแก่ลูกค้า โดยดึงจุดแข็งและความเชี่ยวชาญในการให้บริการประกันภัยอย่างครบวงจรมาขยายพันธมิตรทางธุรกิจใหม่ๆ โดยมุ่งให้เกิดระบบนิเวศทางธุรกิจ (Ecosystem) ที่สามารถให้บริการแก่ลูกค้าอย่างครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ และตอบโจทย์พฤติกรรมของลูกค้าในยุคปัจจุบัน
"ในปีนี้กลุ่มทิสโก้มุ่งเน้นการเติบโตอย่างมีคุณภาพ โดยขยายสินเชื่ออย่างระมัดระวัง เนื่องจากยังมีปัจจัยเสี่ยงรุมล้อมในหลายด้าน โดยเฉพาะปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยและต้นทุนทางการเงินที่อยู่ในระดับสูง ขณะที่เศรษฐกิจเองก็มีความไม่แน่นอน ดังนั้น จึงจำเป็นต้องบริหารจัดการอย่างรัดกุมในทุกด้าน เพื่อรักษาสมดุลในการรับมือความท้าทายต่าง ๆ นี้ ขณะเดียวกันจะเข้าไปให้ความช่วยเหลือดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิดเพื่อให้ลูกค้ามีที่พึ่ง รวมถึงการให้คำปรึกษาในการรวมหนี้เพื่อให้ลูกค้ามีภาระดอกเบี้ยที่ลดลงผ่าน Freedom Platform พร้อมกับนำ Digital Platform for Omni Channel มาปรับใช้ โดยยกระดับความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลและการบริหารความเสี่ยง และใช้ Smart Assistance and Automation เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ” นายศักดิ์ชัย กล่าวและเพิ่มเติมว่า
ในปี 2567 กลุ่มทิสโก้ ดำเนินธุรกิจครบรอบ 55 ปี ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ทิสโก้ยึดมั่นในหลักธรรมาภิบาลและการบริหารความเสี่ยงที่รัดกุมเป็นแนวทางสำคัญในการดำเนินธุรกิจ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายและขับเคลื่อนองค์กรให้เติบโตอย่างยั่งยืน ในปีนี้ทิสโก้ยังคงยืนหยัดก้าวไปข้างหน้าเพื่อสร้างความมั่นคงทางการเงินที่ยั่งยืนให้กับคนไทย โดยบูรณาการแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) เข้าไปอยู่ในแผนกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ ทั้งการเป็นองค์กรที่ร่วมผลักดันการลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Commitment) การสนับสนุนการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม การสร้างความยั่งยืนทางการเงินส่วนบุคคลแก่คนไทย การเพิ่มโอกาสเข้าถึงบริการทางการเงินและให้ความรู้ทางการเงินแก่สังคม เพื่อมุ่งสู่อนาคตแห่งความมั่งคั่งที่ยั่งยืนไปด้วยกัน
สรุปผลประกอบการสำหรับงวดปี 2566
ผลการดำเนินงานของกลุ่มทิสโก้สำหรับงวดปี 2566 บริษัทมีกำไรสุทธิจำนวน 7,303 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.1% เมื่อเทียบกับปี 2565 สาเหตุหลักมาจากการเติบโตของธุรกิจสินเชื่อที่ขยายตัวถึง 7.2% ในกลุ่มสินเชื่อบรรษัทขนาดใหญ่ และสินเชื่อรายย่อยในกลุ่มธุรกิจจำนำทะเบียนผ่านช่องทาง “สมหวัง เงินสั่งได้” ส่งผลให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิปรับตัวเพิ่มขึ้น 8.6% แม้ว่าในช่วงปีที่ผ่านมา ต้นทุนทางการเงินเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วถึง 93.9% ซึ่งเป็นไปตามทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นในตลาด และการปรับอัตราเงินนำส่งกองทุน FIDF กลับสู่ระดับปกติที่ 0.46% ต่อปี ในขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยอ่อนตัวลง 6.4% จากธุรกิจตลาดทุนที่ผันผวนรุนแรง ทั้งค่าธรรมเนียมการซื้อขายหลักทรัพย์ที่ลดลงตามปริมาณการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ที่ลดลงอย่างมาก รวมถึงการรับรู้ผลขาดทุนจากเครื่องมือทางการเงินที่วัดมูลค่ายุติธรรมผ่านงบกำไรขาดทุน (FVTPL) ประกอบกับธุรกิจธนาคารพาณิชย์ฟื้นตัวช้า โดยเฉพาะค่าธรรมเนียมจากธุรกิจนายหน้าประกันภัยที่ชะลอตัวลงตามปริมาณการปล่อยสินเชื่อใหม่ที่ลดลง
ในส่วนของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานปรับตัวเพิ่มขึ้น 8.7% ส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนตามแผนการเติบโตในระยะยาวของบริษัท ในขณะที่ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Credit Loss – ECL) อยู่ที่ 0.3% ของยอดสินเชื่อเฉลี่ย โดยมีอัตราส่วนเงินสำรองหนี้สูญต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Loan Loss Coverage Ratio) อยู่ที่ 189.8% เพียงพอต่อการรองรับความเสี่ยงในปัจจุบันและการคาดการณ์ในอนาคต ทั้งนี้ บริษัทมีอัตราผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้นเฉลี่ย (ROAE) สำหรับงวดปี 2566 อยู่ที่ 17.1%
เงินให้สินเชื่อรวมของกลุ่มทิสโก้ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 มีจำนวน 234,815 ล้านบาท ขยายตัว 7.2% จากปี 2565 จากสินเชื่อบรรษัทขนาดใหญ่ที่เติบโตถึง 33% ที่เน้นการเติบโตในลูกค้ากลุ่มธุรกิจพลังงาน และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ประกอบกับสินเชื่อรายย่อย โดยเฉพาะสินเชื่อจำนำทะเบียน “สมหวัง เงินสั่งได้” ที่เพิ่มขึ้นกว่า 25% จากแผนการเปิดเครือข่ายสาขาทั่วประเทศ ในขณะที่สินเชื่อเช่าซื้อชะลอตัวจากการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดรถยนต์ ในส่วนของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.22% ของสินเชื่อรวม ส่วนหนึ่งเป็นไปตามกลยุทธ์การเติบโตไปยังกลุ่มสินเชื่อที่มีอัตราผลตอบแทนสูง ประกอบกับผลกระทบจากหนี้ครัวเรือนและค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูง โดยบริษัทยังคงดำเนินนโยบายการปล่อยสินเชื่ออย่างระมัดระวัง พร้อมติดตามและดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิด ประกอบกับการบริหารความเสี่ยงและตั้งสำรองอย่างรัดกุม
ธนาคารทิสโก้ยังคงรักษาระดับฐานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง โดยมีประมาณการอัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) อยู่ที่ 22.3% สูงกว่าอัตราเงินกองทุนขั้นต่ำ 11.0% ที่กำหนดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย และมีอัตราเงินกองทุนชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ที่ 18.9% และ 3.5% ตามลำดับ