กรุงศรี จัดงานสัมมนาเพื่อลูกค้าธุรกิจ อัพเดทโอกาสธุรกิจปี 2023เผย 8 เมกะเทรนด์เปลี่ยนโลก แนะเสริมการลงทุนใน EEC

กรุงศรี จัดงานสัมมนาเพื่อลูกค้าธุรกิจ อัพเดทโอกาสธุรกิจปี 2023เผย 8 เมกะเทรนด์เปลี่ยนโลก แนะเสริมการลงทุนใน EEC

กรุงเทพฯ (3 พฤษภาคม 2566) – กรุงศรี (ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)) จัดงานสัมมนาKrungsri Business Exclusive Talk : 2023 Thailand Vision สำหรับลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่และวาณิชธนกิจ โดยได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญจากวิจัยกรุงศรีที่มาอัพเดทสถานการณ์เศรษฐกิจมหภาคแนวโน้มธุรกิจและอุตสาหกรรมของประเทศไทยในปี 2566 ร่วมด้วยผู้บริหารระดับสูงจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกมาร่วมแบ่งปันและแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับทิศทางและแผนการลงทุนใน EEC รวมทั้งแนวทางการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของธุรกิจในปีนี้

นายเซอิจิโระ อาคิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด(มหาชน) ได้ให้เกียรติกล่าวเปิดงานและชี้ให้เห็นถึงทิศทางการดำเนินงานของกรุงศรีในการขับเคลื่อนการเติบโตของพันธมิตรธุรกิจในปีนี้ว่า กรุงศรียังคงมุ่งมั่นดำเนินงานภายใต้แผนธุรกิจระยะกลางฉบับปัจจุบัน ซึ่งครอบคลุมปี 2564 – 2566 ปีนี้จึงเป็นปีสุดท้ายของแผนธุรกิจฉบับนี้ โดยปีนี้กรุงศรีเน้นให้ความสำคัญในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนสำหรับทุกคน ผ่านกลยุทธ์สามด้าน ได้แก่ การดำเนินธุรกิจที่เชื่อมโยงภูมิภาคอาเซียน (ASEAN-Linked Business) การดำเนินธุรกิจที่เชื่อมโยงกับความยั่งยืนตามโมเดล ESG (ESG-Linked Business) และการพัฒนาด้านดิจิทัลและนวัตกรรม (Digital & Innovation) และด้วยเป้าหมายในการเป็น Trusted Partner หรือ ธนาคารพันธมิตรที่ลูกค้าธุรกิจไว้วางใจ กรุงศรีได้ประสานความร่วมมือกับเครือข่าย MUFG และทำงานร่วมกับธนาคารพันธมิตรในการนำเสนอผลิตภัณฑ์และโซลูชันทางการเงิน พร้อมสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับลูกค้า เพื่อช่วยส่งเสริมและขับเคลื่อนให้ธุรกิจของลูกค้าเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืนไปพร้อมกัน

ด้าน ดร.พิมพ์นารา หิรัญกสิ ผู้บริหารฝ่ายวิจัยธุรกิจและอุตสาหกรรม ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (จำกัด) มหาชน ได้ให้มุมมองเรื่อง Global Megatrends สำหรับปี 2566 ว่า ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดกระแสสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ประกอบไปด้วย 1. Deglobalization – หลายประเทศเริ่มเข้าสู่ภาวะ Regionalization นั่นคือการเชื่อมโยงกันเองในภูมิภาคสินค้าอุตสาหกรรมหลายประเภทหันมาพึ่งพาวัตถุดิบภายในภูมิภาคมากขึ้น 2. Shifting Economic Power and Polarization เริ่มมีการเปลี่ยนขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจ โดยประเทศกลุ่มตลาดเกิดใหม่อย่างจีนและอินเดียเริ่มมีความสำคัญต่อภาวะเศรษฐกิจโลกมากขึ้น ขณะเดียวกันโลกต้องเผชิญกับความตึงเครียดในเชิงภูมิรัฐศาสตร์เพิ่มขึ้นและเป็นเรื่องที่ต้องเฝ้าติดตาม ซึ่งทั้ง 2 เรื่องนี้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงฐานการผลิต 3. Demographic Change การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร โดยมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นทั่วโลก 4. Urbanization การเคลื่อนย้ายถิ่นฐานเข้าสู่เขตเมือง รวมถึงไลฟ์สไตล์วิถีชีวิตเป็นแบบสังคมเมืองมากขึ้น 5. Individualism คนจะมองหาความแตกต่างที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง ต้องการสินค้าที่ทำมาเพื่อตัวเองโดยเฉพาะมากขึ้น 6. Health and Wellness คนให้ความสำคัญกับสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีมากขึ้น 7. Environment เรื่องของสิ่งแวดล้อมกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันและในระดับประเทศ 8. Technology เทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ จะเข้ามาDisrupt ธุรกิจและชีวิตประจำวันมากขึ้น ทั้งหมดนี้ นับเป็นความท้าทายที่ผู้ประกอบการต้องตระหนักและปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับกระแสหรือโอกาสที่เกิดขึ้น เพื่อสร้างความเติบโตทางธุรกิจไปพร้อมกับการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย

“จากกระแสของ Global Megatrends ดังกล่าวเป็นแรงผลักดันให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (S-Curve) ที่มีอัตราการเติบโตสูง และมีความสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนกลไกเศรษฐกิจไทยในอนาคต อันได้แก่ 1. Intelligent Electronics อุตสาหกรรมที่มีการใช้ชิปปัญญาประดิษฐ์ (AI Chip) ระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ในยานยนต์ อุปกรณ์โทรคมนาคม หรือที่อยู่อาศัยอัจฉริยะ ซึ่งสามารถเชื่อมต่อกับเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้ 2. Next – Generation Automotive อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า ยานยนต์แบบไร้คนขับ รวมไปถึงระบบนิเวศการคมนาคมขนส่ง 3. Biofuels and Biochemicals อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ 4. Food for the Futureอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร การเพิ่มมาตรฐานการตรวจสอบย้อนกลับด้านความปลอดภัยอาหาร การวิจัยและผลิตโภชนาเพื่อสุขภาพ รวมไปถึงผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปที่ใช้โปรตีนทางเลือก 5. Medical and Comprehensive Healthcare อุตสาหกรรมการแพทย์แบบครบวงจร รวมไปถึงการรักษาโรคทางไกลผ่านอินเทอร์เน็ต/สมาร์ทโฟน” ดร.พิมพ์นารา กล่าวเสริม

ด้าน ดร.ชลจิต วรวังโส วีรกุล ผู้ช่วยเลขาธิการด้านเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เปิดเผยถึงความสำเร็จและความก้าวหน้าในโครงการศูนย์ธุรกิจ EEC และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะว่า การลงทุนในโครงการ EEC ระยะแรก รวมมูลค่าการลงทุนกว่า 1.7 ล้านล้านบาท เน้นการพัฒนาในโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น โดยได้ผลักดันให้เกิดการร่วมทุนสำเร็จครบทั้ง 4 โครงการแล้ว ได้แก่ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 โดยปัจจุบันทั้ง 4 โครงการกำลังเข้าสู่ขั้นตอนการก่อสร้างและคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2568-2569 และจากนี้จะเริ่มดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนแผนลงทุนระยะที่ 2 ภายใต้ EEC Vision 2570 โดยกำหนดเป้าหมายการลงทุนเป็นจำนวน 2.2 ล้านล้านบาท เน้นที่การดึงดูด 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ใน 5 แกนธุรกิจใหม่ที่มีศักยภาพสูง ได้แก่ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ ซึ่งครอบคลุมถึงเรื่องยานยนต์สมัยใหม่หรือ EV และเทคโนโลยี Smart Mobility อุตสาหกรรมความงามและการดูแลสุขภาพ การพัฒนาบุคลากรและการศึกษา อุตสาหกรรมการขนส่งและโลจิสติกส์ และอุตสาหกรรมดิจิทัล ซึ่งล้วนเป็นกลไกหลักที่ช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโตเต็มศักยภาพ ทั้งนี้ EEC ได้ประกาศเขตส่งเสริมเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายดังกล่าวครอบคลุม 7 เขตพัฒนาพิเศษ ได้แก่ เขตส่งเสริมรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (EECh) เขตส่งเสริมการแพทย์จีโนมิกส์ มหาวิทยาลัยบูรพา บางแสน (EECg) เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) เขตส่งเสริมศูนย์นวัตกรรมการแพทย์ครบวงจร ธรรมศาสตร์ พัทยา (EECmd) เขตส่งเสริมนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EECi) เขตส่งเสริมเมืองการบินภาคตะวันออก (EECa) และเขตส่งเสริมนวัตกรรมดิจิทัลและเทคโนโลยีขั้นสูงบ้านฉาง (EECtp) โดยนักลงทุนจะได้รับสิทธิประโยชน์ทาง ภาษีและสิทธิประโยชน์ด้านอื่นๆ รวมถึง การอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจอีกด้วย

งานสัมมนาครั้งนี้เป็นหนึ่งในกิจกรรมเพื่อช่วยเสริมสร้างศักยภาพด้านธุรกิจของลูกค้าธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเพื่ออัพเดทสถานการณ์ต่างๆ รวมถึงแบ่งปันข้อมูลความรู้ให้ลูกค้าธุรกิจได้เข้าถึงข้อมูลเชิงลึกจากวิทยากรชั้นแนวหน้า พร้อมสร้างแรงบันดาลใจ และโอกาสในการต่อยอดธุรกิจให้กับลูกค้า

ข่าวเกี่ยวข้อง