UAC รุกพัฒนาโรงไฟฟ้าภูผาม่าน - โรงงานผลิต RDF3ปั้นรายได้ปีนี้โตมากกว่า 15% - EBITDAแกร่งแตะ 20%

UAC รุกพัฒนาโรงไฟฟ้าภูผาม่าน - โรงงานผลิต RDF3ปั้นรายได้ปีนี้โตมากกว่า 15% - EBITDAแกร่งแตะ 20%

กรุงเทพฯ - บมจ.ยูเอซี โกลบอล ( UAC ) ใส่เกียร์ลุยพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพืชพลังงานภูผาม่าน (PPM) ในส่วน Generator#2 กำลังการผลิต 1.5 MW. คาด COD ได้ไตรมาส 2/2567 นี้ ส่วนโครงการ PT Cahaya YasaCipta (CYC) ผลิตและจำหน่าย RDF3 มีกำลังการผลิต 40,000 ตัน/ปี คาด COD ได้ภายในปีนี้ หนุนรายได้ทั้งปี 67 โตมากกว่า 15% - EBITDA เพิ่มขึ้น 20%

นายชัชพล ประสพโชค ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูเอซี โกลบอล จำกัด (มหาชน) หรือ “UAC” เปิดเผยว่า ในไตรมาส 2/2567 บริษัทฯ ยังคงเดินหน้าพัฒนาโครงการต่อเนื่องได้แก่ 1.โครงการโรงไฟฟ้าพืชพลังงานภูผาม่าน (PPM) ปัจจุบันเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) เดินเครื่อง Generator#1 กำลังการผลิต 1.5 MW. เป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลังจากได้รับสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) จากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา ขณะที่ Generator#2               กำลังการผลิต 1.5 MW.จะดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ภายในไตรมาส 2/2567 นี้  

2. โครงการ PT Cahaya Yasa Cipta (CYC) ซึ่งเป็นการร่วมทุนในบริษัท PT Cahaya Cipta สัดส่วน 70% ของบริษัท ยูเอซี เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (บริษัทย่อย) เพื่อรองรับการดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตและจำหน่าย RDF3 ในสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ภายใต้กำลังการผลิตประมาณ 40,000 ตัน/ปี โดยจะจำหน่ายให้กับโรงปูนซีเมนต์ในพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงงาน และคาดว่าจะสามารถเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ภายในปี 2567

“บริษัทฯ มุ่งเน้นสร้างโอกาสการเติบโตทางธุรกิจ โดยตั้งเป้าการเติบโตของรายได้ในปีนี้ที่มากกว่า 15% และมี EBITDA เพิ่มขึ้น 20%ของรายได้รวม ควบคู่กับการให้ความสำคัญในการดำเนินธุรกิจภายใต้หลักธรรมาภิบาล โปร่งใส ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน เคารพสิทธิมนุษยชน และคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียเป็นสำคัญ พร้อมทั้งยังมุ่งให้ความสำคัญเรื่องความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ (ESG) เพื่อพัฒนาองค์กรให้เติบโตอย่างยั่งยืนตามหลักการ ESG ในทุกมิติ” 

ด้านผลประกอบการในไตรมาส 1/2567 บริษัทฯ มีรายได้จากการขายและบริการ 468.09 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.51% เมื่อเทียบกับปีก่อน (YoY) จากการเพิ่มขึ้นของรายได้ในกลุ่มธุรกิจ Manufacturing - Petroleum และกลุ่มธุรกิจ Manufacturing - Energy ขณะที่ค่าใช้จ่ายจากการขายและบริหารเพิ่มขึ้น               จากการขยายตัวทางธุรกิจของบริษัทและบริษัทย่อย ส่งผลให้มีกำไรส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นของบริษัท และ EBITDA จำนวน 60.40 ล้านบาท และ 121.44 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะเดียวกัน บริษัทฯ ยังได้รับส่วนแบ่งกำไรจากการลงทุนในบริษัทร่วมอย่างต่อเนื่อง จำนวน 21.14 ล้านบาท 

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังคงให้ความสำคัญกับการรักษาสภาพคล่องกระแสเงินสด โดย ณ วันที่                 31 มีนาคม 2567 มีกระแสเงินสดในมือ จำนวน 236.04 ล้านบาท และอัตราส่วนหนี้สินรวมต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (D/E) ที่ 1.06 เท่า ซึ่งเป็นไปตามกรอบนโยบายทางการเงินของบริษัทฯ ที่ไม่เกิน 2 เท่า

ข่าวเกี่ยวข้อง