SAM บริษัทบริหารสินทรัพย์ของคนไทย ชูบทบาท AMC ภาครัฐ เผยชนะประมูลหนี้เสียจากแบงก์ ครึ่งปี65 กวาด NPL เข้าพอร์ตแล้วกว่า 5,000 ลบ.
นายธรัฐพร เตชะกิจขจร กรรมการผู้จัดการ บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (บสส.) หรือ SAM เปิดเผยผลการประมูลซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพครึ่งปี ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 SAM ชนะการประมูลหนี้เสีย NPLs จากสถาบันการเงินที่เป็นพันธมิตรเครือข่ายในการบริหารลูกค้าที่ประสบปัญหาของคนไทยให้กลับมาอยู่รอด อยู่ได้และเติบโต รวม 8 พอร์ต รวมทั้งสิ้นประมาณ 1,200 บัญชี คิดเป็นมูลหนี้รวมกว่า5,200 ล้านบาท ประกอบด้วยกลุ่มสินเชื่อธุรกิจ (Corporate) กลุ่มสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและ ขนาดย่อม(SMEs) และสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (Housing Loan) ส่งผลให้ปัจจุบัน SAM ในฐานะบริหารสินทรัพย์ของภาครัฐ มีพอร์ตสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่อยู่ภายใต้การบริหารจัดการ ประมาณ 22,000 ราย คิดเป็นมูลค่าทางบัญชี รวมทั้งสิ้นกว่า 350,000 ล้านบาท
สำหรับการประมูลขายหนี้เสียของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด(มหาชน) ซึ่ง SAM ชนะการประมูลในกลุ่มสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (Housing Loan) ประมาณ250 รายการ มูลหนี้รวมประมาณ 700 ล้านบาท เป็นการเปิดประมูลแก่นักลงทุนที่สนใจ โดยเป็นกระบวนการตามมาตรฐานทั่วไปของตลาด ผ่านการดำเนินการของบริษัท เบเคอร์ ทิลลี่ คอร์ปอเรท แอดไวเซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด ที่ปรึกษาทางการเงินในการขายหนี้ให้กับธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) โดยยึดหลักเกณฑ์ความโปร่งใสและเป็นธรรมแก่ผู้เข้าร่วมประมูลทุกราย อย่างเท่าเทียมกันในทุกขั้นตอนการประมูล
นายธรัฐพรกล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 คาดว่าสถาบันการเงินต่าง ๆ จะปล่อยสินทรัพย์ ด้อยคุณภาพออกประมูลในปริมาณเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น SAM ในฐานะบริษัทบริหารสินทรัพย์ของคนไทยจึงตั้งเป้าหมายซื้อหนี้ NPL จากสถาบันการเงินต่าง ๆ เข้ามาบริหารจัดการอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มขนาดพอร์ตสินทรัพย์ด้อยคุณภาพควบคู่ไปกับการดูดซับและลดปริมาณหนี้เสียของระบบสถาบันการเงินในประเทศ โดยแผนการรับซื้อหนี้เสียของ SAM ในปี 2565 ยังเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้และยืนยันความพร้อมที่สามารถเป็นผู้เล่นหลักในตลาดบริหารสินทรัพย์ (AMC) เพื่อเป็นหนึ่งในกลไกและเครื่องมือสำคัญในการช่วยเหลือ ฟื้นฟูและดูแลคนไทยที่มีปัญหาหนี้สินให้กลับมามีชีวิตและดำเนินธุรกิจ ได้ตามปกติ อันเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสร้างความเติบโต ยั่งยืนให้แก่ประเทศโดยรวม