PSP ร่วมมือ OR เพิ่มอัตราการจัดเก็บผลิตภัณฑ์ยางมะตอย เตรียมขยายการเติบโตในพื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันตกและภาคใต้ตอนบนของประเทศ พร้อมรองรับการนำเข้าผลิตภัณฑ์ยางมะตอยจากต่างประเทศ

PSP ร่วมมือ OR เพิ่มอัตราการจัดเก็บผลิตภัณฑ์ยางมะตอย เตรียมขยายการเติบโตในพื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันตกและภาคใต้ตอนบนของประเทศ พร้อมรองรับการนำเข้าผลิตภัณฑ์ยางมะตอยจากต่างประเทศ

เมื่อช่วงปลายปี 2566 ที่ผ่านมา คณะผู้บริหาร บริษัท พี.เอส.พี.สเปเชียลตี้ส์ จำกัด (มหาชน) หรือ PSP นำโดย (ที่ 4 จากขวา) นายสินธุ์ ครองพาณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และนายเสกสรร ครองพาณิชย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ร่วมด้วยนายณัฐพล ครองพาณิชย์ กรรมการ บริษัท ยู.ซี.มาร์เก็ตติ้ง จํากัด และ นายณรงค์ศักดิ์ เย็นสกุล ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการคลัง วิศวกรรม และความปลอดภัย บริษัท พี.เอส.พี.สเปเชียลตี้ส์ จำกัด (มหาชน) พร้อมคณะผู้บริหาร บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR นำโดย (ที่ 4 จากซ้าย) นายสุชาติ ระมาศ ผู้อำนวยการใหญ่ นายชุมพล สิริปูชกะ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ปฏิบัติงาน บริษัท ปตท. บริหารธุรกิจค้าปลีก จำกัด (PTTRM) ในตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการ นายนพพร พรวาณิชเจริญ ผู้จัดการฝ่ายตลาดเอนเนอร์ยีโซลูชัน และ นายไมตรี วงษ์วันทนีย์ ผู้จัดการส่วนขายผลิตภัณฑ์พิเศษ เข้าเยี่ยมชมความคืบหน้าการพัฒนาศูนย์การจัดเก็บผลิตภัณฑ์ยางมะตอย ภายใต้ชื่อโครงการ “Asphalt Phase II” โดยงานก่อสร้างมีความคืบหน้าไปกว่า 90% ซึ่งเป็นไปตามแผนที่กำหนดในการให้บริการภายในช่วงไตรมาส 1/2567 การพัฒนาศูนย์จัดเก็บยางมะตอยในครั้งนี้จะช่วยยกระดับการเพิ่มอัตราการจัดเก็บที่มากกว่าเท่าตัว และสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการกระจายผลิตภัณฑ์ยางมะตอยให้รองรับต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรมการก่อสร้างถนน ในพื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันตกและภาคใต้ตอนบนของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โครงการ Asphalt Phase II ถือเป็นโครงการที่ไม่เพียงจะช่วยเพิ่มปริมาณการจัดเก็บยางมะตอยเท่านั้น แต่ยังจะเป็นการขยายขีดความสามารถในการแข่งขัน และยกระดับการให้บริการแบบครบวงจรมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ PSP มีการให้บริการด้านการจัดเก็บยางมะตอย ที่สามารถควบคุมอุณหภูมิเพื่อเก็บรักษาคุณภาพของยางมะตอย ด้วยการใช้ระบบฮีตเตอร์คอยล์ (Coil Heater) เพื่อรักษาความสมบูรณ์และเสถียรภาพของผลิตภัณฑ์ให้พร้อมต่อการขนส่งและการใช้งานในแต่ละพื้นที่ภายในประเทศได้อย่างสมบูรณ์ที่สุด รวมไปถึงการให้บริการจัดการด้านโลจิสติกส์ ตั้งแต่การรับผลิตภัณฑ์ยางมะตอยจนไปถึงการกระจายสินค้า โดย PSP มีท่าเทียบเรือปฏิบัติการ (Operating Jetty) ที่มีข้อกำหนดและมาตรฐานที่มีความเข้มงวด ซึ่งจะเป็นการสร้างข้อได้เปรียบเชิงต้นทุน และความคล่องตัวในการประกอบธุรกิจ ประกอบกับทำเลที่ตั้งของบริษัทที่เป็นเส้นทางหลักของการกระจายผลิตภัณฑ์ยางมะตอยไปสู่ภาคกลาง ภาคตะวันตกและภาคใต้ ด้วยข้อได้เปรียบดังกล่าวจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผลิตภัณฑ์ยางมะตอย และการขนส่งทั้งทางบกและทางเรือจากทั้งในประเทศและต่างประเทศได้

นายสินธุ์ ครองพาณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พี.เอส.พี.สเปเชียลตี้ส์ จำกัด (มหาชน) หรือ PSP- เปิดเผยว่า การขยายอัตราการเก็บในครั้งนี้จะเป็นการช่วยในการเพิ่มปริมาณการเก็บที่เพิ่มขึ้นจากเดิมกว่า 100% ซึ่งในปัจจุบัน PSP เดิมมีการจัดเก็บยางมะตอยโดยรวมกว่า 4 ล้านกิโลกรัม เมื่อโครงการAsphalt Phase II แล้วเสร็จ จะทำให้อัตราการจัดเก็บนั้นสามารถเพิ่มขึ้นเป็น 8 ล้านกิโลกรัมในทันที ต่อเนื่องจากการขยายพื้นที่ในการจัดเก็บที่สูงขึ้นแล้ว อัตราการกระจายยางมะตอยจะเพิ่มขึ้นตามไปด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งในปัจจุบันอัตราการกระจายเฉลี่ยกว่า 2 ล้านกิโลกรัมต่อวัน จะเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 4 ล้านกิโลกรัมต่อวัน และยังสามารถขยายปริมาณจัดเก็บในอนาคตได้อีกด้วย

นายสุชาติ ระมาศ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR - เปิดเผยว่า กลุ่มบริษัทมีแผนเพิ่มความหลากหลายของกลุ่มผลิตภัณฑ์มาอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงการส่งเสริมกลุ่มผลิตภัณฑ์ยางมะตอย ที่มีความต้องการเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากจากทางภาคเอกชน ซึ่งสอดคล้องกับแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ ทั้งนี้ OR เล็งเห็นโอกาสในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดอุตสาหกรรมยางมะตอย ที่ปัจจุบันยังมีโอกาสในการเติบโตอีกมาก ดังนั้นการเพิ่มอัตราการจัดเก็บยางมะตอยจึงเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างความได้เปรียบเพื่อรองรับความต้องการของการใช้งานจากทางภาครัฐและเอกชน โดยการร่วมมือในครั้งนี้จะถือเป็นก้าวที่สำคัญในการวางรากฐานร่วมกับ PSP เพื่อการเติบโตในระยะยาว

ทั้งนี้ ความร่วมมือระหว่าง PSP และ OR ถือเป็นการตอกย้ำความสัมพันธ์อันยาวนานกว่า 30 ปี ที่ร่วมกันผลักดันและส่งเสริมการพัฒนาด้านผลิตภัณฑ์หล่อลื่นแบบครบวงจร ศูนย์กระจายน้ำมันเชื้อเพลิง และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ อาทิเช่น จาระบี สารเติมแต่ง (Additive) และผลิตภัณฑ์ยางมะตอย ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวทำให้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ สามารถตอบสนองแก่ผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในกลไกที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศมาอย่างยาวนาน

ข่าวเกี่ยวข้อง