MTC ยิ้ม Q1กำไรสุทธิ 1,374 ล้านบาท เดินเกมรุก เปิดสาขาปูพรมทั่วไทย 5,500 แห่ง
MTC โชว์สเต็ปความเป็นผู้นำสินเชื่อทะเบียนรถจักรยานยนต์เบอร์หนึ่งของเมืองไทย ประกาศงบไตรมาส1/64 กำไรสุทธิ 1,374 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.02% สร้างสถิติสูงสุดใหม่ต่อเนื่อง สวนกระแสโควิด-19 ระบาดระลอกใหม่ บิ๊กบอส “ชูชาติ เพ็ชรอำไพ” เปิดเกมรุก ปูพรมขยายสาขาทั่วไทยครบ 5,500 แห่ง ในสิ้นปีนี้รองรับความต้องการเข้าถึงสินเชื่อในระดับชุมชน หวังทำรายได้ และกำไรได้ตามเป้า
นายชูชาติ เพ็ชรอำไพ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) (MTC) ผู้นำตลาดสินเชื่อทะเบียนรถจักรยานยนต์ เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงาน สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2564 บริษัทฯและบริษัทย่อยมีรายได้รวม 3,857 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน คิดเป็น 8.95% มีกำไรสุทธิ 1,374 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน คิดเป็น 11.02% โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากยอดสินเชื่อคงค้างที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในช่วงสามเดือนแรกของปีนี้มียอดสินเชื่อคงค้างกว่า 73,547 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10,873 ล้านบาท หรือ 17.35% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน
ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นปีถึงวันที่ 31 เดือนมีนาคม มีการเปิดสาขาใหม่เพิ่มเป็นจำนวน 121 สาขา ส่งผลให้ บริษัทฯมีสาขา 5,005 สาขา กระจายทั่วประเทศ
“การเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ ทำให้บริษัทฯ ปรับแผนการดำเนินงานบ้างเล็กน้อย แต่ไม่ได้ทำให้การดำเนินงานของบริษัทฯ สะดุดแต่อย่างใด เรายังคงเดินหน้าขยายสาขาตามแผนเดิมที่วางไว้ โดยในปีนี้ได้วางงบลงทุนสำหรับการขยายสาขาไว้ที่ 300 ล้านบาท รองรับแผนเปิดเพิ่มอีก 600 สาขา ซึ่งคาดว่าจะครบ 5,500 สาขา ภายในสิ้นปีนี้ เพื่อรองรับความต้องการสินเชื่อของกลุ่มลูกค้าตามต่างจังหวัด โดยเฉพาะลูกค้ารายย่อยที่ต้องการสินเชื่อที่ไม่ยุ่งยาก เป็นธรรม และลดการพึ่งพาสินเชื่อนอกระบบ บริษัทฯ หวังผลักดันพอร์ตสินเชื่อเติบโต 20-25% และวางเป้าคุมเอ็นพีแอลไม่เกิน 2%
นอกเหนือจากแผนปล่อยสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ บริษัทฯ ยังให้ความสำคัญกับธุรกิจเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ใหม่ ซึ่งในแต่ละปีมีลูกค้าเป็นจำนวนมากที่ต้องการซื้อรถจักรยานยนต์คันใหม่ จากจุดแข็งของบริษัท ที่มีฐานลูกค้ามากกว่า 2 ล้านราย ทำให้มีโอกาสขยายตลาดได้อีกมาก
ประธานกรรมการบริหาร MTC กล่าวเสริมอีกว่า แม้จะเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของ
โรคโควิด-19 ระลอกใหม่ แต่ด้วยประสบการณ์ของทีมงานผู้บริหารที่มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจมายาวนานเกือบ 3 ทศวรรษ ยังคงให้ความสำคัญกับการดูแลคุณภาพสินเชื่อที่รัดกุม เพื่อป้องกันความเสี่ยงหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ทำให้มั่นใจว่าจะสามารถฟันฝ่าอุปสรรคในครั้งนี้ไปได้ด้วยดีเหมือนเช่นปีที่ผ่านมา