GUNKUL เซ็นสัญญา PPA ซื้อขายไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มเพิ่มอีก 6 โครงการกำลังผลิตรวม 191.8 เมกะวัตต์
บมจ.กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL) ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มเพิ่มเติมกับ กฟผ. และ กฟภ. ในส่วนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ จำนวน 6 โครงการ ขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 191.8 เมกะวัตต์ สัญญาระยะยาว 25 ปี คาดทยอยเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ในปี 2571 จากเดิมที่ลงนามไปแล้ว 8 โครงการ กำลังการผลิต 429.6 เมกะวัตต์ หนุนให้บริษัทมีโครงการโซลาร์ฟาร์มใหม่เป็น 14 โครงการและกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ตามสัญญาโดยรวมสูงขึ้นเป็น 1,236.95 เมกะวัตต์ จากเดิม 615.55 เมกะวัตต์ เติบโตเพิ่มขึ้น 100%
นางสาวโศภชา ดำรงปิยวุฒิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) (GUNKUL) เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้เข้าลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เป็นระยะเวลา 25 ปี เพื่อพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (solar farm) และ พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน (Battery Energy Storage System : BESS) ตามระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed – in Tariff (FiT) ปี 2565-2573 สำหรับกลุ่มที่ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 กลุ่มบริษัทย่อยที่บริษัทฯ ถือหุ้น 100% ได้เข้าลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (“PPA”) กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (“กฟผ”) แบ่งเป็น โครงการพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (Solar Farm) จำนวน 2 โครงการ กำลังผลิตรวม 106.6 เมกะวัตต์ และ พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน (Battery Energy Storage System : BESS) อีก จำนวน 3 โครงการ กำลังผลิตรวม 83.6 เมกะวัตต์ และเข้าลงนามกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2566 จำนวน 1 โครงการในรูปแบบพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (Solar Farm) กำลังการผลิตรวม 1.6 เมกกะวัตต์ ส่งผลให้ขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่รวมเป็น 621.4 เมกะวัตต์ สัญญาระยะยาว 25 ปี คาดทยอยเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ในปี 2571-2573 หนุนให้บริษัทมีกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญาโดยรวมสูงขึ้นเป็น 1,236.95 เมกะวัตต์ จากเดิม 615.55 เมกะวัตต์ เติบโตเพิ่มขึ้น 100% ซึ่งรายละเอียดของแต่ละโครงการมีดังต่อไปนี้
“โครงการดังกล่าวถือเป็นหนึ่งในความตั้งใจของบริษัทฯ ในการดำเนินธุรกิจที่ควบคู่ไปกับความรับผิดชอบต่อสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ซึ่งนอกจากจะเป็นกลยุทธ์ขององค์กรเพื่อมุ่งสู่ความยั่งยืน เสริมความแข็งแกร่งให้กับบริษัทฯ ในการสนับสนุนการพัฒนาพลังงานสะอาดให้กับประเทศไทยแล้ว ยังสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ การป็นผู้นําด้านธุรกิจพลังงานทดแทน อุปกรณ์ และระบบไฟฟ้าแบบครบวงจร ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้แข็งแกร่งอย่างยั่งยืน” นางสาวโศภชา กล่าวในที่สุด