FSMARTเปย์ปันผลอีก 0.20บ./หุ้น รวมจ่ายทั้งปี 0.46บ./หุ้นโชว์ผลงานปี 64 ปั๊มกำไร 400 ล้านบาทแผนปี 65 ยอดเติมโต 15% ลุย Ecosystem ต่อยอดธุรกิจสินเชื่อ พร้อมปั้นเต่าบิน เป็น New S Curve

FSMARTเปย์ปันผลอีก 0.20บ./หุ้น รวมจ่ายทั้งปี 0.46บ./หุ้นโชว์ผลงานปี 64 ปั๊มกำไร 400 ล้านบาทแผนปี 65 ยอดเติมโต 15% ลุย Ecosystem ต่อยอดธุรกิจสินเชื่อ พร้อมปั้นเต่าบิน เป็น New S Curve

FSMART ปันผลอีกหุ้นละ 0.20 บาท รวมทั้งปีปันผลรวมหุ้นละ 0.46 บาท โชว์งบปี 64 รายได้ 2,679 ล้านบาท กำไร 400 ล้านบาท แม้อยู่ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ผู้บริหารชี้เติมเงิน e-Wallet โตไม่แผ่วแถมโกยรายได้จากจำนวนธุรกรรมโอนเงินที่เพิ่มขึ้น 14.4% พร้อมรับกระแสตู้ ”เต่าบิน” ฟีเวอร์ เผยแผนปี 2565 ลุยทั้งออฟไลน์และออนไลน์ สร้าง Ecosystem เต็มรูปอย่างแท้จริง คาดการเติบโตโดยรวม10-15% เล็งแบงก์ non-bank เพิ่มมากกว่า 2 ราย ขยาย “บุญเติม Mini ATM” พร้อมมุ่งเน้นบริการออนไลน์ขยายกลุ่มลูกค้าใหม่ เตรียมเปิดผลิตภัณฑ์สินเชื่อรอบใหม่วงเงิน 1,000 ล้านบาท มั่นใจปั้นสินเชื่อและเต่าบินเป็น New S Curve ให้กับบริษัทระยะยาว

นายณรงค์ศักดิ์ เลิศทรัพย์ทวี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) “FSMART” ผู้นำเครือข่ายช่องทางบริการอัตโนมัติและการเงินครบวงจร ใช้งานง่าย สะดวก รวดเร็วและปลอดภัย ภายใต้ชื่อ “บุญเติม” เปิดเผยว่า คณะกรรมการบริษัทมีมติอนุมัติจ่ายเงินปันในอัตราหุ้นละ 0.20 บาท จากกำไรสุทธิของงวดดำเนินงานวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 ถึง 31 ธันวาคม โดยกำหนดวันที่ไม่ได้รับสิทธิปันผล (XD) ในวันที่ 11 มีนาคม 2565 และกำหนดจ่ายปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในวันที่ 29 เมษายน 2565 ทั้งนี้ บริษัทจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลแล้ว 0.26 บาทต่อหุ้น รวมจ่ายปันผลสำหรับผลการดำเนินงานปี 2564 เท่ากับ 0.46 บาท/หุ้น

สำหรับภาพรวมผลการดำเนินงานงวดปี 2564 แม้จะมีสถานการณ์โควิด-19 ที่รุนแรง แต่บริษัทยังสามารถทำรายได้รวม 2,679 ล้านบาท ลดลง 179.4 ล้านบาท หรือ 6.3% จากช่วงเดียวกันปี 2563 ที่มีรายได้ 2,859 ล้านบาท กำไรสุทธิอยู่ที่ 400 ล้านบาท ลดลง 64.0 ล้านบาท หรือ 13.8 % เมื่อเทียบปีที่ผ่านมา สาเหตุส่วนใหญ่จากการครบกำหนดการใช้สิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษีจากการลงทุนเพิ่มตู้ในปี2559 จำนวน 34 ล้านบาท ขณะที่มูลค่าเติมเงินรวมอยู่ที่ 37,981 ล้านบาท ลดลง 1.7% จากปี ส่วนผลการดำเนินงานไตรมาส 4 บริษัทมีรายได้รวม 625.19 ล้านบาท เป็นกำไรสุทธิ 80.78 ล้านบาท ลดลง 15.0% จากไตรมาสที่ผ่านมา และ 26.8 % จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน

“ปี 2564 ที่ผ่านมา บริษัทสามารถขยายช่องบริการใหม่ ทั้งตู้บุญเติมรูปแบบใหม่ บุญเติม Mini ATM และเคาน์เตอร์แคชเชียร์ CenPay powered by Boonterm แม้ว่าบริษัทยังคงดำเนินการในสถานการณ์โควิด-19 แต่ยังสามารถรับมือได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะธุรกิจบริการทางการเงินและสินเชื่อครบวงจรที่มีอัตราการใช้บริการเพิ่มขึ้น 14.4% จากปีก่อน จากสร้าง Ecosystem ธุรกรรมทางการเงินแบบครบวงจรและการเพิ่มตัวแทนธนาคารและ Non-bank ต่อเนื่อง รวมถึงธุรกรรมการเงินออนไลน์อย่างการเติมเงิน e-Wallet มียอดเพิ่มสูงขึ้น 47.7% เมื่อเทียบกับปีก่อนด้วย เช่นเดียวกับธุรกิจเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติและการกระจายสินค้าที่เติบโตจากการขยายจุดบริการอย่างต่อเนื่องจากกระแสคาเฟ่อัตโนมัติเต่าบินที่มีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่ธุรกิจเติมเงิน-รับชำระเงินอัตโนมัติก็มียอดใช้งานสม่ำเสมอ ด้วยบริการใหม่ๆที่อำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้อย่างครอบคลุมมากขึ้น” นายณรงค์ศักดิ์ กล่าว

ส่วนการดำเนินงานในปี 2565 บริษัทคาดการณ์การเติบโตโดยรวม 10-15% โดยวางเป้าหมายเป็นตัวแทนธนาคารและกลุ่ม Non-bank เพิ่มอย่างน้อย 2 ราย จากปัจจุบัน 7 ราย และขยาย “บุญเติม Mini ATM” 10,000 จุดทั่วประเทศ ภายใน 2 ปีตามแผน พร้อมพัฒนาขีดความสามารถให้บริการได้ทั้งในประเทศและโอนเงินระหว่างประเทศ เพื่อให้บุญเติมเป็นธนาคารชุมชนครบวงจรด้วยบริการทางการเงินทั้งฝาก-โอน-ถอนเงินสด และบริการ e-KYC ที่มีจุดบริการมากที่สุด ผ่านตู้บุญเติมกว่า 130,000 จุดเคาน์เตอร์แคชเชียร์ “CenPay powered by Boonterm” กว่า 1,700 จุดทั่วประเทศ รวมถึงช่องทางแอปพลิเคชันที่ร่วมพัฒนากับคู่ค้าที่จะสามารถเข้าถึงลูกค้าได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย

ขณะเดียวกัน จะมุ่งเน้นการจัดหาบริการให้สอดคล้องกับการใช้ชีวิตปัจจุบันผ่านช่องทางใหม่ ๆ รวมถึงช่องทางโมบายแอปพลิเคชั่น ซึ่งสามารถให้บริการได้ครบถ้วน อาทิ บริการเติมเงิน e-Wallet บริการData Package ในการใช้อินเตอร์เน็ต บริการรับชำระสินค้ากลุ่มประกันภัย บริการสินเชื่อ และบริการอื่นๆ เพื่อขยายฐานและรองรับลูกค้ากลุ่มใหม่ นอกเหนือจากการรักษาฐานลูกค้าออฟไลน์ที่มีการใช้งานกว่า1.3 ล้านรายการต่อวัน นอกจากนี้ บริษัทเตรียมบริการด้านสินเชื่อด้วยผลิตภัณฑ์สินเชื่อใหม่ เช่น สินเชื่อผ่อนชำระสินค้า สินเชื่อจำนำทะเบียน ด้วยเป้าการปล่อยสินเชื่อวงเงิน 1,000 ล้านบาท โดยทั้งหมดจะช่วยสร้าง Ecosystem ให้กับบริษัทอย่างเต็มรูปอย่างแท้จริง

นายณรงค์ศักดิ์ กล่าวว่า บริษัทมีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบการบริหารจัดการระบบ การหาทำเลที่ตั้งที่มีคุณภาพ และกระจายสินค้าอย่างทั่วถึง ด้วยจุดแข็งด้านเครือข่ายทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการขยายจุดติดตั้งคาเฟ่อัตโนมัติ “เต่าบิน” ภายใต้การดำเนินงานของ บริษัท ฟอร์ท เวนดิ้ง จำกัด ให้บริการเครื่องดื่มชงสดทั้งร้อน เย็น และปั่น ตลอด 24 ชั่วโมง ให้ได้ 20,000 จุดทั่วประเทศภายใน 3 ปี พร้อมจัดการระบบที่มีประสิทธิภาพให้กับสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์ “EV Net” ที่สามารถให้บริการเชิงพาณิชย์และส่วนตัว โดยเชื่อธุรกิจดังกล่าวจะเป็นฐานรายได้ใหม่ (New S Curve) ที่สร้างผลกำไรให้กับบริษัทในระยะยาว

ข่าวเกี่ยวข้อง